การศึกษาในผู้ป่วยชาย 50 คน อายุระหว่าง 12-65 ปี มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำน้อยกว่า 3 วัน และทำให้เกิดอาการขาดน้ำระยะกลางถึงรุนแรง โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานผงเกลือแร่ ORS ที่มี osmolarity ต่ำ (มีกลูโคส 75 มล./ล.) (HO-ORS) ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้รับประทานผง ORS ที่มี osmolarity ต่ำ ชนิดที่ทำจากแป้งข้าวโพด (amylase-resistant high amylose maize starch) แทน glucose ขนาด 50 กรัม/ลิตร (HAMS-ORS) ซึ่งผง ORS ทั้ง 2 ชนิด จะบรรจุในถุงและนำมาละลายน้ำ 200 มล. ดื่มทุก 1 ชั่วโมง และทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระ การศึกษาในครั้งนี้ต้องการดูระยะเวลาที่มีอาการท้องเสียตั้งแต่เริ่มดื่มน้ำ ORS น้ำหนักรวมของอุจจาระที่มีอาการท้องเสีย น้ำหนักของอุจจาระในช่วง 0-12 ชั่วโมง, 13-24 ชั่วโมง และ 25-48 ชั่วโมง ปริมาณ ORS ที่รับประทานเข้าไป เป็นต้น จากการศึกษาพบว่าระยะเวลา (ค่ามัธยฐาน, ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ : interquatile (IQR)) ที่มีอาการท้องเสียตั้งแต่เริ่มดื่มน้ำ ORS ในกลุ่มที่ได้รับ HAMS-ORS มีค่าต่ำกว่า (มัธยฐาน 19 ชม., IQR 10-28) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ (HO-ORS) (มัธยฐาน 42 ชม., IQR 24-50) น้ำหนักรวมของอุจจาระที่มีอาการท้องเสียไม่มีความแตกต่างกันใน 2 กลุ่ม แต่น้ำหนักอุจจาระในช่วง 13-24 และ 25-48 ชม. ในกลุ่มที่ได้รับ HAMS-ORS ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับ HO-ORS อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปริมาณผง ORS ที่รับประทานเข้าไปใน 25-48 ชม. ของกลุ่ม HAMS-ORS จะต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับ HO-ORS แต่หากรวมปริมาณ ORS ที่รับประทานเข้าไปในรอบ 48 ชม. จะไม่มีความแตกต่างกันของทั้ง 2 กลุ่ม และมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับของเหลวทางหลอดเลือดดำในกลุ่ม HAMS-ORS มีจำนวน 9 คน ในขณะที่กลุ่ม HO-ORS มีจำนวน 12 คน และในผู้ป่วยที่ผลตรวจอุจจาระพบเชื้ออหิวาตกโรค (Vibrio cholerae) พบว่ากลุ่มที่ได้รับ HAMS-ORS ระยะเวลาที่มีอาการท้องเสียและน้ำหนักอุจจาระรวมจะต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับ HO-ORS อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการศึกษาสรุปได้ว่าผงเกลือแร่ชนิด HAMS-ORS ใช้ได้ผลดีกว่า HO-ORS ในการรักษาผู้ป่วยอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และมีอาการขาดน้ำคล้ายอาการของอหิวาต์ได้
Plos One 2008;3(2):e1587