การศึกษาในคนไทย 60 คน เป็นชาย 18 คน หญิง 42 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 30 คน กลุ่มที่ 1 เป็นควบคุม เป็นชาย 9 คน หญิง 21 คน อายุเฉลี่ย 48.95 ± 4.96 ปี น้ำหนักตัวเฉลี่ย 71.90 ± 11.70 กก. Body mass index (BMI) เฉลี่ย 28.00 ± 3.51 กก./ม2 กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดใบชาเป็นชาย 9 คน หญิง 21 คน อายุเฉลี่ย 48.53 ± 5.50 ปี น้ำหนักตัวเฉลี่ย 69.30 ± 9.54 กก. BMI เฉลี่ย 27.42 ± 3.26 กก./มม. ซึ่งกลุ่มที่ 1 ให้กินยาหลอก (placebo) วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 แคปซูล หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น นาน 12 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานสารสกัดใบชา 250 มก. 1 แคปซูล (ซึ่งประกอบด้วยสาร gallic acid 0.24 มก. catechin 4.09 มก. caffeine 28.86 มก. epigallocatechin gallate (EGCG) 33.58 มก. และ epicatechin gallate 9.28 มก.) หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น นาน 12 สัปดาห์ ซึ่งทุกคนจะได้รับอาหารไทย 3 มื้อ ซึ่งมีแคลลอรี่เท่ากับ 8373.6 กิโลจูล/วัน นาน 12 สัปดาห์ โดยที่อาหารประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 65% โปรตีน 15% และไขมัน 20% จากผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดชาน้ำหนักลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม ความแตกต่างระหว่างน้ำหนักที่ลดลงของทั้ง 2 กลุ่มเท่ากับ 2.70, 5.10 และ 3.3 กก. ในระหว่างสัปดาห์ที่ 4, 8 และ 12 ของการศึกษาตามลำดับ ในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 น้ำหนักจะลดลงค่อนข้างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ซึ่งการที่น้ำหนักลดลงในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดชา อาจเนื่องจากมีการใช้พลังงานมากขึ้น และมีการออกซิเดชั่นของไขมันมากขึ้น พบว่าในสัปดาห์ที่ 8 กลุ่มที่ได้รับสารสกัดชาจะมีการใช้พลังงานขณะพักมากกว่ากลุ่มควบคุม เท่ากับ 183.3 กิโลจูล/วัน แต่ไม่มีความแตกต่างในระดับความพึงพอใจในควารู้สึกอิ่ม (satiety score) ปริมาณอาหารที่รับประทาน และการเคลื่อนไหวของร่างกาย (physical activity) ในสัปดาห์ที่ 12 กลุ่มที่ได้รับสารสกัดชา มีระดับของ vanillylmandelic acid (เมตาบอไลท์ของสาร catecholamine) ในปัสสาวะสูงกว่ากลุ่มที่กินยาหลอก ขณะที่ระดับ leptin ไม่แตกต่างกันระหว่าง 2 กลุ่ม การศึกษานี้สรุปได้ว่าการได้รับสารสกัดชาที่มีสาร EGCG ในขนาด 100 มก./วัน สามารถเพิ่มการใช้พลังงาน และเพิ่มการออกซิเดชั่นของไขมัน มีผลทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้
Physiology & Behaviro 2008;93:486-91