การศึกษาทางคลินิกแบบ crossover ในหญิงชาวอินเดียจำนวน 40 คน อายุระหว่าง 18 - 35 ปี แบ่งเป็น 2 การทดลอง โดยแต่ละการทดลองมี 20 คน ซึ่งเป็นคนที่มีอาการของโลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็ก (iron deficiency anemia) 10 คน และหญิงปกติ 10 คน
การทดลองที่ 1 (Tea study) วันที่ 1 อาสาสมัครจะได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก (57FeSO4) + น้ำเปล่า 300 มล. วันที่ 2 ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก (58FeSO4) + น้ำเปล่า 150 มล. + น้ำชา 150 มล. วันที่ 15 ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก (57FeSO4) + น้ำเปล่า 300 มล. วันที่ 16 ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก (58FeSO4) + น้ำชา 300 มล. (ในน้ำชา 150 มล. มีสาร polyphenols 78 มก.)
การทดลองที่ 2 (Ascorbic acid study) วันที่ 1 อาสาสมัครจะได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก (57FeSO4) + น้ำเปล่า 300 มล. วันที่ 2 ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก (58FeSO4) + น้ำเปล่า 150 มล. + น้ำเปล่า 150 มล. + วิตามินซี (2:1 molar ratio) วันที่ 15 ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก (57FeSO4) + น้ำเปล่า 300 มล. วันที่ 16 ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็ก (58FeSO4) + น้ำเปล่า 150 มล. + น้ำเปล่า 150 มล. + วิตามินซี (4:1 molar ratio)
จากผลการทดลองที่ 1 พบว่าการดื่มชา 1 หรือ 2 ถ้วย (150 มล. หรือ 300 มล.) มีผลลดการดูดซึมธาตุเหล็กในกลุ่มปกติ 49% และ 66% ตามลำดับ และมีผลลดการดูดซึมธาตุเหล็กในกลุ่มคนที่มีอาการของโลหิตจาง 59% และ 67% ตามลำดับ
จากผลการทดลองที่ 2 พบว่าการได้รับวิตามินซี 2:1 หรือ 4:1 molar ratio มีผลเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กในกลุ่มปกติ 270% และ 343% ตามลำดับ และมีผลเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กในกลุ่มคนที่มีอาการของโลหิตจาง 291% และ 350% ตามลำดับ
ซึ่งทำให้สามารถสรุปได้ว่า การดื่มชาทำให้ความสามารถในการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารลดลง ในขณะที่การได้รับวิตามินซีสามารถเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารได้ ซึ่งผลดังกล่าว เกิดขึ้นทั้งในคนปกติและในคนที่มีอาการของโลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็ก
Am J Clin Nutr 2008; 87: 881-6