การทดลองในหนูขาวอายุ 8 สัปดาห์ ซึ่งได้รับอาหารไขมันต่ำและไม่มี cholesterol โดยแบ่งหนูขาวเป็น4 กลุ่ม และให้ได้รับอาหาร 4 ประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีแหล่งของพลังงานจากโปรตีน 21% เป็นเวลา 8 สัปดาห์ กลุ่มที่ 1 เป็นหนูที่ไม่ถูกตัดรังไข่ ได้รับโปรตีนจาก casein ขนาด 227 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ ได้รับโปรตีนจาก casein ขนาด 227 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม กลุ่มที่ 3 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ ได้รับโปรตีนจากถั่วเหลืองขนาด 227 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม กลุ่มที่ 4 เป็นหนูที่ถูกตัดรังไข่ ได้รับโปรตีนจาก casein ขนาด 227 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ร่วมกับ isoflavones สกัดจากถั่วเหลือง ขนาด 0.465 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม หลังจาก 8 สัปดาห์พบว่า หนูกลุ่มที่ 3 มีระดับของผลรวม cholesterol และระดับของ HDL-C ในเลือดต่ำกว่ากลุ่ม ที่ 1, 2 และ 4 ในขณะที่อัตราส่วนของ total cholesterol/HDL-C และ non- HDL-C/HDL-C ในกลุ่ม 3 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่ม 1 และ 4 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้โปรตีนจากถั่วเหลืองซึ่งมีสารในกลุ่ม isoflavones ความเข้มข้นสูง แทน casein ในอาหารของหนูขาวที่ถูกตัดรังไข่ ซึ่งได้รับอาหารไขมันต่ำและไม่มี cholesterol มีผลลดระดับของ HDL-C และเพิ่มอัตราส่วนของ total cholesterol/HDL-C ในเลือด เมื่อเทียบกับหนูที่ถูกตัดรังไข่เพียงอย่างเดียว จากผลการทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าโปรตีนจากถั่วเหลือง อาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวได้ แต่ผลดังกล่าวไม่ได้เนื่องมาจากสาร isoflavone ในถั่วเหลือง
Nutrition Research 2007;27(7):417-22