ผลต้านเบาหวานและต้านอนุมูลอิสระของใบองุ่น

สารสกัดน้ำจากใบองุ่นที่ขนาด 250 และ 500 mg/kg มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีระดับน้ำตาลสูงขึ้นด้วย glucose (2 g/kg) และหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย Streptozotocin (55 mg/kg) ได้ภายใน 4 ชม. และเมื่อให้สารสกัดต่อเนื่องกัน 15 วัน ก็มีผลลดน้ำตาลในเลือดด้วย แต่สารสกัดไม่มีผลต่อหนูปกติ เมื่อนำสารสกัดน้ำจากใบองุ่นมาทำการแยกโดยใช้ตัวทำละลายเอทิลอะซีเตทและบิวทานอล แล้วนำมาทดสอบฤทธิ์ โดยการป้อนครั้งเดียว พบว่าส่วนสกัดเอทิอะซีเตทขนาด 50 mg/kg และส่วนสกัดบิวทานอลขนาด 160 mg/kg มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูทั้ง 2 กลุ่มได้ โดยที่ส่วนสกัดเอทิลอะซีเตทจะมีฤทธิ์กว่าส่วนสกัดบิวทานอล ขณะที่ส่วนสกัดน้ำจะไม่มีผล เมื่อเปรียบเทียบกับยา tolbutamide พบว่าส่วนสกัดเอทิลอะซีเตทมีฤทธิ์ดีเทียบเท่ากับยา tolbutamide ในหนูที่เหนี่ยวนำด้วย Streptozotocin แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่าในหนูที่เหนี่ยวนำด้วย glucose

สำหรับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยวัดจากระดับของ malondialdehyde (MDA) และ glutathion (GSH) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการ lipid peroxidation พบว่าสารสกัดน้ำจากใบขนาด 250 mg/kg มีผลลดระดับของ MDA ในหัวใจ ส่วนขนาด 500 mg/kg มีผลลดระดับของ MDA ในเนื้อเยื่อตับ และมีผลลดระดับของ MDA ในไตได้ทั้ง 2 ขนาด สารสกัดน้ำจากใบที่ขนาด 250 mg/kg มีผลลดระดับของ GSH ในเนื้อเยื่อไต ตับ และหัวใจ แต่ที่ขนาด 500 mg/kg จะให้ผลตรงข้าม สำหรับส่วนสกัดต่างๆ พบว่าส่วนสกัดเอทิอะซีเตทและบิวทานอลจะมีผลลดระดับ GSH ได้ในทุกเนื้อเยื่อและมีผลลดระดับ MDA ในเนื้อเยื่อหัวใจ นอกจากนี้ส่วนสกัดเอทิลอะซี-เตทยังมีผลลดระดับ MDA ในไตด้วย เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีพบว่าส่วนสกัดเอทิลอะซี-เตทซึ่งมีฤทธิ์ดีที่สุดจะมีปริมาณของสาร polyphenol มากที่สุด แสดงว่าการออกฤทธิ์ของส่วนสกัดมาจากสารในกลุ่ม polyphenol

J Ethnopharmacol 2006;108:280-6