ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดและความเป็นพิษของมะระขี้นก

สารสกัดผลมะระแห้ง ด้วย 70% เอทานอล และสารสกัดน้ำคั้นผลมะระที่ไม่สุกและนำเมล็ดออกแล้วทำให้แห้งด้วยความเย็น เมื่อนำมาทดสอบความเป็นพิษในหนูขาวทั้ง 2 เพศ โดยวิธีการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 362.34 มก/.100 ก.นน.ตัว และ 91.9 มก./100 ก.นน.ตัว ตามลำดับ นอกจากนี้ยังศึกษาทดลอง ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดผลมะระแห้งด้วย 70% เอทานอล และสารสกัดน้ำคั้นผลมะระในหนูขาวปกติ และหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร alloxan (ขนาด 150 มก./กก.) โดยกลุ่มหนูขาวปกติจะถูกแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมที่ให้เฉพาะ saline อย่างเดียว กลุ่มที่ 2, 3, 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำคั้นผลมะระที่ทำให้แห้งด้วยความเย็นขนาด 2.1, 5.7 และ 9.2 มก./100 ก.นน.ตัว/วัน ตามลำดับ กลุ่มที่ 5, 6 และ 7 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดผลมะระแห้งด้วย 70% เอทานอลในขนาด 13.4, 24.8 และ 36.2 มก./100 ก.นน.ตัว/วัน ตามลำดับนาน 3 เดือน ในกลุ่มหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มควบคุมให้ saline อย่างเดียว กลุ่มที่ 2, 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำคั้นผลมะระที่ทำให้แห้งด้วยความเย็นขนาด 2.1 และ 5.7 มก./100 ก.นน.ตัว/วัน กลุ่มที่ 4 และ 5 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดผลมะระแห้งด้วย 70% เอทานอลขนาด 13.4 และ 36.2 มก./100 ก.นน.ตัว/วัน นาน 30 วัน ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดทั้งผลมะระแห้ง และสารสกัดน้ำคั้นผลมะระสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวปกติ และหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานได้ และไม่พบความผิดปกติค่าชีวเคมีในเลือดของตับและไต ได้แก่ BUN, creatinine, ALT, AST และ alkaline phosphatase ในหนูปกติ ในขณะที่หนูกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย Alloxan พบว่าสารสกัดจะลดค่าชีวเคมีในเลือดของตับและไต ได้แก่ BUN, creatinine, ALT, AST, alkaline phosphatase คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ซึ่งสูงขึ้นจากการเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน จากผลการทดลองสรุปได้ว่าสารสกัดผลมะระแห้งด้วย 70% เอทานอล และสารสกัดน้ำคั้นผลมะระสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการถูกทำลายของตับและไต และยังลดระดับไขมันในเลือดในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานได้ ซึ่งจากการศึกษาสามารถที่จะพัฒนามะระขี้นกให้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานต่อไป

J Ethnopharmacol 2006;108:236-42