ศึกษาผลของการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดใบกะเพราเข้มข้น 6% เปรียบเทียบกับน้ำยาบ้วนปาก chlorhexidine 0.2% ในผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งเพศชายและหญิง (อายุระหว่าง 45-55 ปี) จำนวน 38 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม (กลุ่มละ 19 คน) กลุ่มที่ 1 กลั้วปากด้วย chlorhexidine 0.2% และกลุ่มที่ 2 กลั้วปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดใบกะเพราความเข้มข้น 6% โดยจะกลั้วปากวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน แต่ละครั้งใช้เวลานาน 1 นาที เป็นระยะเวลา 15 วัน ทำการประเมินค่าดัชนีเหงือกอักเสบ (gingival index) ดัชนีคราบจุลินทรีย์ (plaque index) และค่าความลึกของร่องปริทันต์ (pocket depth) ทั้งช่วงก่อน (baseline) และหลังการทดสอบ ผลจากการศึกษาพบว่า การใช้นำยาบ้วนปากทั้ง 2 ชนิดมีผลลดค่าดัชนีเหงือกอักเสบ ดัชนีคราบจุลินทรีย์ และค่าความลึกของร่องปริทันต์ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการทดสอบ ผลการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มหลังการทดสอบพบว่า การใช้น้ำยาบ้วนปาก chlorhexidine 0.2% มีค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ต่ำกว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดใบกะเพราอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ค่าดัชนีเหงือกอักเสบและค่าความลึกของร่องปริทันต์ไม่มีความแตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดใบกะเพรา 6% มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับน้ำยาบ้วนปาก chlorhexidine 0.2% ในการลดอาการอักเสบของเหงือก ซึ่งอาจใช้เป็นทางเลือกเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพช่องปากได้
IRJAY.2023;6(12):39-44.