ศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดชาเขียวต่อการตกไข่และรอบเดือนเปรียบเทียบกับการรับประทานยารักษาโรคเบาหวาน metformin ในผู้ป่วยที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome) จำนวน 94 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (33 คน, อายุเฉลี่ย 27.3±4.11 ปี) ให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดสารสกัดชาเขียว (สารสกัดผงใบชาเขียว 500 มก. ประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล 50 มก.) วันละ 2 ครั้ง นาน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นรับประทานวันละ 1,500 มก. นานติดต่อกัน 3 เดือน กลุ่มที่ 2 (29 คน, อายุเฉลี่ย 27.75±4.23 ปี) ให้รับประทานยา metformin วันละ 500 มก. นานติดต่อกัน 3 เดือน และกลุ่มที่ 3 (32 คน, อายุเฉลี่ย 27.06±4.18 ปี) ให้รับประทานยาหลอก (inactive fiber) นานติดต่อกัน 3 เดือน ทำการวัดขนาดของร่างกาย (น้ำหนักและรอบเอว) วัดค่าความดันโลหิต เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีในเลือดของผู้ป่วย และทำการอัลตร้าซาวด์เพื่อวัดความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกและรังไข่ทั้งในช่วงก่อนและหลังการทดสอบ ผลการศึกษาพบว่า น้ำหนักตัว ค่า BMI ค่าความดันโลหิต ค่าความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกและรังไข่ และค่าทางชีวเคมีในเลือดของผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน แต่การรับประทานสารสกัดชาเขียวมีผลลดระยะเวลาระหว่างการมีรอบเดือนลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานยา metformin และยาหลอก (เฉลี่ย 32.22±12.78, 48.72±37.06 และ 48.53±31.04 วัน ตามลำดับ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การรับประทานสารสกัดชาเขียวให้ผลลัพธ์ที่ดีในการควบคุมรอบการมีประจำเดือนในผู้ป่วยที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ แต่ควรมีการศึกษาในระยะยาวเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นผลในด้านอื่น ๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
J Med Life. 2024;17(1):109-15.