การศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดใบกะเพรา (Holixer™) โดยทำการทดสอบในหนูเม้าส์และหนูแรทดังนี้ ทดสอบภาวะเครียดด้วยวิธี swim endurance test ในหนูเม้าส์ โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัว) กลุ่มที่ 1 (กลุ่มควบคุม) ป้อน 0.5% w/v carboxy methyl cellulose (CMC) กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ป้อนสารสกัดใบกะเพราซึ่งละลายใน 0.5% CMC ที่ความเข้มข้น 12.5, 25 และ 50 มก./กก. ตามลำดับ โดยป้อนวันละครั้ง นานติดต่อกัน 10 วัน ในวันที่ 10 หลังจากป้อนสารสกัด 1 ชม. นำหนูทุกกลุ่มไปทดสอบด้วยวิธี swim endurance test และการทดสอบในหนูแรท แบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัว) กลุ่มที่ 1 และ 2 (กลุ่มควบคุม) ป้อน 0.5%CMC กลุ่มที่ 3, 4 และ 5 ป้อนสารสกัดใบกะเพราซึ่งละลายใน 0.5% CMC ที่ความเข้มข้น 12.5, 25 และ 50 มก./กก. ตามลำดับ โดยป้อนวันละครั้ง นานติดต่อกัน 8 วัน ในวันที่ 8 หลังจากป้อนสารสกัด 1 ชม. นำหนูกลุ่มที่ 2-6 ไปทดสอบด้วยวิธี forced swim test จากนั้น ทำการเก็บตัวอย่างเลือดหนูทุกกลุ่ม (1-6) เพื่อนำไปวิเคราะห์ระดับฮอร์โมน corticosterone นอกจากนี้ ทำการศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) เพื่อวิเคราะห์ผลของสารสกัดใบกะเพราต่อการหลั่งของฮอร์โมน cortisol และวิเคราะห์การทำงานของ corticotropin-releasing hormone (CRF1) receptor ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับฮอร์โมน cortisol ในเซลล์ ผลจากการศึกษาพบว่า การป้อนสารสกัดใบกะเพราทุกขนาดมีผลให้หนูเม้าส์มีค่าความอดทน (endurance capacity) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนผลการทดสอบในหนูแรทพบว่า การป้อนสารสกัดใบกะเพรามีผลลดค่า immobility time ซึ่งบ่งชี้ว่าภาวะเครียดลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยประสิทธิผลจะขึ้นกับขนาดความเข้มข้น สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ระดับฮอร์โมน corticosterone ในเลือด ซึ่งพบว่า หนูแรทที่ได้รับสารสกัดใบกะเพรา มีระดับฮอร์โมนดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และลดลงตามปริมาณความเข้มข้นที่ได้รับ ผลการวิเคราะห์สารสกัดใบกะเพราต่อการหลั่งของฮอร์โมน cortisol และการทำงานของ CRF1 receptor พบว่า สารสกัดใบกะเพราที่ความเข้มข้น 25-100 มคก./มล. มีผลยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมน cortisol ในเซลล์ human adreno-carcinoma และยับยั้งการทำงานของ CRF1 receptor โดยประสิทธิผลจะขึ้นกับขนาดความเข้มข้น แสดงให้เห็นว่า สารสกัดใบกะเพรา (Holixer™) มีประสิทธิภาพช่วยลดอาการเครียดในสัตว์ทดลอง โดยมีกลไกในการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน cortisol ได้
PLoS One. 2023;18(5):e0285012.