ศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดหญ้าฝรั่น (ประกอบด้วยสารสำคัญคือ picrocrocin, trans-4 GG crocin, trans-3 Gg crocin, cis-4 GG crocin, trans-2 gg crocin, trans-crocetin และ safranal) ต่อกระบวนการเรียนรู้และการสะสมของโปรตีนและเส้นใยในสมองซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม โดยทำการทดสอบในหนูแรทเพศผู้ (อายุ 10-12 สัปดาห์) แบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัว) กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารปกติและป้อนน้ำเกลือ (ควบคุมปกติ) กลุ่มที่ 2 ฉีดสาร scopolamine ขนาด 2 มก./กก. (กลุ่มควบคุม) เข้าทางช่องท้อง กลุ่มที่ 3 ป้อนยา rivastigmine tartrate ขนาด 1.5 มก./กก. (กลุ่มเปรียบเทียบ) หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดสาร scopolamine ขนาด 2 มก./กก. กลุ่มที่ 4, 5 และ 6 ป้อนสารสกัดหญ้าฝรั่นขนาด 10, 15 และ 20 มก./กก. ตามลำดับ หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดสาร scopolamine ขนาด 2 มก./กก. เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ทดสอบพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำด้วยวิธี Morris water maze test และทำการซำแหละซากแยกส่วนตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองเพื่อตรวจวิเคราะห์ระดับเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) และวิเคราะห์ระดับเอนไซม์และโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการการอักเสบและการเกิดอนุมูลอิสระ ตรวจวิเคราะห์การสะสมของโปรตีนและเส้นใยในสมองด้วยเทคนิคทางจุลกายวิภาคศาสตร์ และวิเคราะห์การออกฤทธิ์ยับยั้ง AChE ของสารสำคัญที่พบในสารสกัดหญ้าฝรั่นด้วยวิธีการจำลองการจับเชิงโมเลกุล (molecular docking) ผลจากทดสอบพบว่า การฉีดสาร scopolamine มีผลทำให้หนูมีภาวะความจำบกพร่อง และเกิดการสะสมของโปรตีน amyloid beta (Aβ plaques) และ neurofibrillary tangles (NFT) ในตัวอย่างเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งการป้อนสารสกัดหญ้าฝรั่นมีผลช่วยให้กระบวนการเรียนรู้และความจำของหนูแรทดีขึ้น และช่วยลดการเกิด Aβ plaques และ NFT โดยประสิทธิผลจะขึ้นกับขนาดความเข้มข้น และการป้อนสารสกัดหญ้าฝรั่นยังมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ AChE ซึ่งมีหน้าที่สลายสารสื่อประสาท acetylcholine มีผลลดระดับ malondialdehy (MDA) ซึ่งบ่งชี้ถึงการเกิดอนุมูลอิสระ และลดระดับ interleukin-6 (IL-6) และ C-reactive protein (CRP) ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะการอักเสบของเนื้อเยื่อสมอง และเพิ่มระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระคือ superoxide dismutase (SOD) ส่วนการให้ยา rivastigmine tartrate เพื่อเปรียบเทียบพบว่า มีผลลดการทำงานของเอนไซม์ AChE ลดระดับ MDA และ IL-6 และเพิ่มระดับเอนไซม์ SOD ได้ดีกว่าการให้สารสกัดหญ้าฝรั่น แต่ผลลดการเกิด Aβ plaques และ NFT พบว่า การให้สารสกัดหญ้าฝรั่นในขนาดสูง (20 มก./กก.) จะให้ผลดีกว่าการให้ยา rivastigmine tartrate นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์แบบจำลองการจับเชิงโมเลกุลพบว่า สาร trans-crocetin สามารถเข้าจับกับบริเวณ active site ของเอนไซม์ AchE ได้มากที่สุด ส่งผลให้เอนไซม์ทำงานได้ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดสอบพฤติกรรมการเรียนรู้ของสัตว์ทดลอง ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดหญ้าฝรั่นมีผลช่วยบรรเทาภาวะการเรียนรู้และความจำบกพร่องซึ่งเกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยสาร scopolamine ได้
Ethnopharmacol. 2024;326:117898.