การทดสอบฤทธิ์รักษาแผลของสารสกัด 50% เอทานอลจากใบของอินทผลัม (Phoenix dactylifera L.) และสาร saponin ที่แยกได้จากสารสกัดดังกล่าว โดยเตรียมให้อยู่ในรูปของแผ่นฟิล์มปิดแผลที่มีสารทดสอบขนาด 400 มก. ทำการทดสอบในหนูแรทปกติและหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยการฉีด streptozotocin ขนาด 45 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง จากนั้นหนูทั้ง 2 กลุ่มจะถูกทำให้เกิดแผลบริเวณหลัง ทั้งแผลแบบตัดด้วยของมีคม (incision wound) ความยาว 1.5 ซม. และแผลแบบผ่าตัดชิ้นเนื้อออก (excision wound) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มม. โดยทำการเปลี่ยนแผ่นฟิล์มให้แบบวันเว้นวัน บันทึกลักษณะและขนาดของแผลจนกว่าแผลจะปิดสนิท เปรียบเทียบผลที่ได้กับการแปะแผ่นฟิล์มที่ไม่มีสารทดสอบ (inert film)
ผลการทดลองใน incision wound ของหนูที่เป็นเบาหวานพบว่า แผลที่ปิดด้วยแผ่นฟิล์มที่มีสารสกัดจากใบหายเร็วกว่าแผลที่ปิดด้วย inert film โดยแผลจะหายสนิทในวันที่ 4 และ 9 ตามลำดับ (ไม่ได้ทำการทดสอบกับแผ่นฟิล์มที่มีสาร saponin)
ผลการทดลองใน excision wound ของหนูที่เป็นเบาหวานพบว่า แผลที่ปิดด้วยแผ่นฟิล์มที่มีสารสกัดจากใบหายเร็วที่สุด โดยในวันที่ 2 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผลลดลงจาก 5 มม. เหลือ 3 มม. และแผลจะหายสนิทในวันที่ 8 ส่วนกลุ่มที่ปิดด้วยแผ่นฟิล์มที่มีสาร saponin และ inert film ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผลลดลงจาก 5 มม. เหลือ 3 มม. ในวันที่ 6 และแผลจะหายสนิทในวันที่ 12 ผลการทดลองใน excision wound ของหนูปกติพบว่า แผลที่ปิดด้วยแผ่นฟิล์มที่มีสารสกัดจากใบและแผ่นฟิล์มที่มีสาร saponin แผลจะหายสนิทในวันที่ 4 แต่ในวันที่ 2 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผลในกลุ่มที่ปิดด้วยแผ่นฟิล์มที่มีสารสกัดจากใบมีขนาดเล็กกว่ากลุ่มที่ปิดด้วยแผ่นฟิล์มที่มีสาร saponin ส่วนกลุ่มที่ปิดด้วย inert film แผลมีขนาดเล็กลง แต่ยังไม่หายสนิทแม้ใช้เวลานานถึง 8 วัน
จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า สารสกัด 50% เอทานอลจากใบของอินทผลัมมีฤทธิ์รักษาแผล ทั้งแผลชนิด incision และ excision ซี่งให้ผลดีทั้งในหนูปกติและหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน