การศึกษาความปลอดภัยของสาร alkaloids จากใบพญาสัตบรรณ ซึ่งปัจจุบันมีการนำมาใช้ในรูปแบบยาแคปซูล (capsule of alkaloids from the leaf of Alstonia scholaris (L.) R.Br.; CALAS) เพื่อบรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ อาการไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ และโรคหอบหืด โดยทำการศึกษาทางคลินิกแบบ two-stage, single-centre, double-blinded, randomized, placebo-controlled, dose-escalation study ในอาสาสมัครสุขภาพดี ซึ่งการศึกษาจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบที่ 1 เป็นการให้ยาคนละครั้งเดียวโดยเพิ่มขนาดในแต่ละกลุ่ม (single ascending dose; SAD) โดยให้ CALAS ในขนาด 8, 40, 120, 240, 360, 480 มก. เพียงครั้งเดียว และสังเกตอาการนาน 3 วัน แบบที่ 2 เป็นการให้ยาคนละหลายครั้งโดยเพิ่มขนาดในแต่ละกลุ่ม (multiple ascending dose) โดยให้ CALAS ในขนาด 40 หรือ 120 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน จากผลการทดลองทั้ง 2 แบบพบว่า การได้รับ CALAS ไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง และไม่พบความผิดปกติใด ๆ ต่ออวัยวะภายใน โดยพบอัตราส่วนของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา (the ratios of treatment-emergent adverse event, TEAE) ในคนที่ได้รับ CALAS และคนที่ได้รับยาหลอกเท่ากับ 23.91% และ 18.75% ตามลำดับ นอกจากนี้ อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความผิดปกติเล็กน้อย ซึ่งสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาแต่อย่างใด เช่น อาการสะอึก (8%), ปากแห้งและคลื่นไส้ (6%), นอนมากขึ้น (4%), ท้องอืด (2%), และมีระดับ bilirubin สูงขึ้น (2%) อย่างไรก็ตาม ในการศึกษา SAD เมื่อทำการประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากยา (adverse drug reactions) โดยคณะกรรมการตัดสินทางคลินิก (clinical adjudication committee) พบว่าการให้ที่ขนาด 480 มก. เข้าเกณฑ์ให้ยุติการทดลอง ดังนั้น ที่ขนาด 360 มก. จึงเป็นปริมาณที่ยอมรับได้สูงสุดเมื่อให้โดยการรับประทานเพียงครั้งเดียว และขนาด 120 มก. วันละ 3 ครั้ง เป็นปริมาณที่ยอมรับได้สูงสุดเมื่อให้โดยการรับประทานนาน 7 วัน
Pharm Biol. 2021;59(1):484-93. doi: 10.1080/13880209.2021.1893349.