ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของดอกสายน้ำผึ้ง

การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด 60% น้ำและเมทานอลจากดอกสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica) ต่อการยับยั้งไบโอฟิล์ม (biofilm) ของเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ ประเมินการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของพื้นผิวเซลล์ ได้แก่ การยึดเกาะ คุณสมบัติไม่ชอบน้ำบนพื้นผิวเซลล์ ความสามารถในการจับตัวกันของเซลล์แบคทีเรีย และคุณสมบัติในการสร้างเอ็กโซพอลิแซคคาไรด์ (exopolysaccharide; EPS) ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกนอกเซลล์ รวมทั้งกลูแคน (glucan) ทั้งชนิดที่สามารถละลายน้ำและไม่สามารถละลายน้ำได้ ซึ่ง glucan มีผลทำให้เชื้อแบคทีเรีย S. mutans สามารถยึดเกาะบนผิวฟัน ก่อให้เกิดคราบจุลินทรีย์หรือ biofilm ได้ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดดอกสายน้ำผึ้งยับยั้งการสร้าง biofilm ผ่านการลดการสร้าง EPS ส่งผลต่อคุณสมบัติของพื้นผิวเซลล์ และชะลอการเกิด biofilm จากการวิเคราะห์พบว่าการสร้าง EPS เกี่ยวข้องกับกลไก 2 ระบบ ได้แก่ quorum sensing (QS) และ phosphotransferase system (PTS) pathways และพบว่าสารสกัดดอกสายน้ำผึ้งมีผลรบกวนการแสดงออกของยีน histidine kinase VicK และการยับยั้ง sensing of autoinducer II (AI-2) ซึ่งเป็นสัญญาณการรับรู้โควรัมที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารภายในและระหว่างแบคทีเรีย ส่งผลลดการทำงานของ glycosyltransferase (Gtf) และการสร้าง glucan ทั้งชนิดที่สามารถละลายน้ำและไม่สามารถละลายน้ำ จึงทำให้การเกิด biofilm ลดลง

Front Microbiol. 2024;15:1435503. doi: 10.3389/fmicb.2024.1435503.