การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของยาเขียวหอม โดยตรวจสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO), prostaglandin E2 (PGE2) และ tumor necrosis factor-alpha (TNF-α) ในเซลล์แมคโครฟาจ (RAW 264.7) ที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) และวิเคราะห์ปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ethyl p-methoxycinnamate ด้วยวิธี high performance liquid chromatography (HPLC) ในสารสกัดเอทานอลยาเขียวหอม สารสกัดน้ำยาเขียวหอม สารสกัดน้ำยาเขียวหอมที่ผ่านการย่อยด้วยกรด (acid-hydrolysis of Kheaw-Hom aqueous extract), และผงยาเขียวหอมที่ผ่านการย่อยด้วยกรด (acid-hydrolysis of Kheaw-Hom powder) ผลพบว่าผงยาเขียวหอมที่ผ่านการย่อยด้วยกรดมีปริมาณสาร ethyl p-methoxycinnamate สูงที่สุด (21.33±1.08 มก./ก. สารสกัด) และยับยั้งการสร้าง NO, PGE2 และ TNF-α ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 11.92±0.21, 30.61±3.12, และ 56.71±2.91 มคก./มล. ตามลำดับ รองลงมา คือ สารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำที่ผ่านการย่อยด้วยกรด ตามลำดับ ส่วนสารสกัดน้ำไม่พบสาร ethyl p-methoxycinnamate และไม่พบฤทธิ์ต้านการอักเสบ (IC50>100 มคก./มล.) แสดงให้เห็นว่าสาร ethyl p-methoxycinnamate ในตำรับเขียวหอมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยอาศัยกลไกการยับยั้งการสร้าง NO, PGE2 และ TNF-α การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรท โดยป้อนด้วยผงยาเขียวหอม ขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. และป้อนสารสกัดเอทานอลยาเขียวหอม ขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. ให้แก่หนูแรท ที่เวลา 1 ชม. ก่อนการเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยคาราจีแนน พบว่าผงยาเขียวหอม ขนาด 100 มก./กก. ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าอย่างมีนัยสำคัญที่เวลา 1, 2 และ 3 ชม. หลังการป้อน ในขณะที่สารสกัดเอทานอลให้ผลลดอาการบวมของอุ้งเท้า ได้ในเวลา 2 และ 3 ชม. ผงยาเขียวหอม (ทุกขนาด) และสารสกัดเอทานอล (100 มก./กก.) ยับยั้งการสร้าง PGE2 ที่อุ้งเท้าของสัตว์ทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาฤทธิ์ของยาเขียวหอมต่อการยับยั้งการบวมของหูหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เกิดการบวมด้วย ethyl phenylpropiolate ผลพบว่าเมื่อทาผงยาเขียวหอม (ความเข้มข้น 1% โดยน้ำหนัก/ปริมาตร) แสดงฤทธิ์ลดอาการบวมของหูหนูแรทอย่างเห็นได้ชัด ที่เวลา 30, 60 และ 120 นาที ส่วนสารสกัดเอทานอลตำรับยาเขียวหอม (0.5-2% โดยน้ำหนัก/ปริมาตร) แสดงฤทธิ์ลดอาการบวมได้ที่เวลา 120 นาที หลังการทา และผงยาเขียวหอมและสารสกัดเอทานอลยาเขียวหอมทุกขนาดให้ผลยับยั้งการสร้าง PGE2 ในเนื้อเยื่อหูหนูแรทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของสมุนไพรในยาเขียวหอม พบว่ามีสมุนไพรรสเย็น (cool flavor) เป็นรสยาหลัก ร่วมกับสมุนไพรรสเผ็ดร้อนและสมุนไพรให้กลิ่นที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบสูง การศึกษานี้จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนการใช้ยาเขียวหอมตามภูมิปัญญาแผนโบราณซึ่งใช้เป็นยาแก้ไข้และลดการอักเสบในเด็ก
*ตำรับยาเขียวหอม ประกอบด้วยด้วยสมุนไพรทั้งหมด 18 ชนิด ได้แก่ ใบพิมเสนต้น (Pogostemon cablin (Blanco) Benth.), ใบผักกระโฉม (Limnophila rugosa Merr.), ใบหมากผู้ (Cordyline fruticosa (L.) Goeppert.), ใบหมากเมีย (Cordyline fruticosa (L.) Goeppert.), ใบสันพร้าหอม (Eupatorium stoechadosmum Hance), รากแฝกหอม (Vetiveria zizanioides (L.) Nash ex Small), หัวเปราะหอม (Kaempferia galanga Linn.), แก่นจันทน์เทศ (Myristica fragrans Houtt.), แก่นจันทน์แดง (Dracaena loureiri Gagnep.), ว่านกีบแรด (Angiopteris evecta (G.Forst) Hoffm.), ว่านร่อนทอง (Globba malaccensis Ridl.), เนระพูสี (Tacca chantrieri Andre), พิษนาศน์ (Sophora exigua Craib), มหาสดำ (Cyathea gigantea Holtt.), ดอกพิกุล (Mimusops elengi Linn.), ดอกบุนนาค (Mesua ferrea Linn.), ดอกสารภี (Mammea siamensis Kosterm. ) และเกสรบัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaertn.)