การทดสอบสารสกัด 80% เอทานอลจากเหง้าเปราะหอม (Kaempferia galanga L.) ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราโซนิก (ultrasonic-assisted extraction) แล้ววิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยเทคนิค high performance liquid chromatography (HPLC) พบปริมาณสารสำคัญ ได้แก่ kaempferol 3,713 มคก./ก. และ luteolin 2,510 มคก./ก. และทดสอบฤทธิ์ต่อการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูเม้าส์ โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มควบคุมปกติ, กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหารด้วย anhydrous alcohol แต่ไม่ให้สารทดสอบใด ๆ, กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหารร่วมกับให้สารสกัดจากเหง้าเปราะหอมขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. ตามลำดับ, กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหารร่วมกับให้สาร kaempferol 100 มก./กก. และสาร luteolin 100 ตามลำดับ แต่ละกลุ่มให้สารทดสอบผ่านทางกระเพาะอาหาร วันละครั้ง เป็นเวลา 7 วัน พบว่า anhydrous alcohol ทำให้กระเพาะอาหารถูกทำลาย เกิดอาการบวม เกิดการสะสมของเซลล์อักเสบและเลือดออก ดัชนีแผลในกระเพาะอาหาร (ulcer index) เท่ากับ 17.63% กลุ่มที่ให้สารสกัดเหง้าเปราะหอมขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. และกลุ่มที่ให้สาร kaempferol และ luteolin มีผลบรรเทาการเกิดรอยโรค ค่าดัชนีแผลในกระเพาะอาหารลดลงเท่ากับ 13.42%, 11.65%, 6.54%, 3.58% และ 3.85% ตามลำดับ กลุ่มที่ไม่ให้สารทดสอบพบว่ามีปริมาณ Ca2+, myeloperoxidase, malondialdehyde, NO, cyclic adenosine monophosphate และ histamine เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ hexosamine, superoxide dismutase, glutathione peroxidase และ prostaglandin E2 ลดลง และการแสดงออกของ IL-1α, IL-1β, IL-6, calcitonin gene related peptide, substance P, M3 muscarinic acetylcholine receptor, histamine H2 receptor, cholecystokinin 2 receptor และ H+/K+ ATPase เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมปกติ และพบว่ากลุ่มที่ให้สารทดสอบส่งผลทำให้ค่าต่าง ๆ กลับสู่ระดับปกติ และสารสกัดจากเหง้าเปราะหอมขนาด 400 มก./กก. ให้ผลใกล้เคียงกับกลุ่มที่ให้สาร kaempferol และ luteolin จากผลการทดสอบครั้งนี้นักวิจัยสรุปว่าสารสกัดจากเหง้าเปราะหอม สาร kaempferol และ luteolin มีผลปกป้องการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูเม้าส์จากการเหนี่ยวนำด้วยเอทานอล โดยออกฤทธิ์ปกป้องเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร ควบคุมอนุมูลอิสระ ควบคุมการกระตุ้นการเกิดแผล ยับยั้ง TRPV1 signaling pathway และการหลั่งกรด ส่งผลให้ค่าดัชนีแผลในกระเพาะอาหารลดลง
J Ethnopharmacol. 2024;325:117845. doi: 10.1016/j.jep.2024.117845.