กระแจะ (ทานาคา) กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและยับยั้งการสร้างเม็ดสีในเซลล์ผิวหนัง

การทดสอบฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในรูปแบบเครื่องสำอางและการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในสารสกัด 95% เอทานอลจากเปลือกต้น (stem bark) ของกระแจะ หรือ ทานาคา (Hesperethusa crenulata) โดยทำการวิเคราะห์ปริมาณสาร marmesin ในตัวอย่างจากแหล่งต่าง ๆ ด้วยเครื่อง high-performance liquid chromatography (HPLC) พบว่าในสารสกัดแห้ง 1 ก. จะมีปริมาณสาร marmesin ระหว่าง 1.38-12.86 มก. การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดด้วยวิธีต่าง ๆ ได้ผลดังนี้ การทดสอบด้วยวิธี DPPH assay พบว่ามีค่า IC50 เท่ากับ 56.43 มคก./มล. ในขณะที่สารมาตรฐาน vitamin C มีค่า IC50 เท่ากับ 4.06 มคก./มล. การทดสอบด้วยวิธี ABTS assay พบว่ามีค่า IC50 เท่ากับ 14.04 มคก./มล. ในขณะที่สารมาตรฐาน Trolox มีค่า IC50 เท่ากับ 6.50 มคก./มล. การทดสอบด้วยวิธี FRAP assay พบว่ามีค่า FRAP value เท่ากับ 337.62 มิลลิโมลาร์ (เทียบเท่า ferrous sulfate ต่อน้ำหนักสารสกัดแห้ง 1 ก.) การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วยวิธี MTT assay โดยทำการทดสอบกับเซลล์ human epidermal keratinocytes (HaCaT), human foreskin fibroblasts (HFF-1), และ murine melanoma (B16F10) พบว่าสารสกัดไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ HaCaT และ HFF-1 เมื่อให้ในขนาดต่ำกว่า 1,000 มคก./มล. แต่ที่ขนาด 500 มคก./มล. พบความเป็นพิษต่อเซลล์ B16F10 การทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนของสารสกัดขนาด 10-1,000 มคก./มล. โดยทำการทดสอบกับเซลล์ HFF-1 พบว่าสารสกัดที่ขนาด 500 มคก./มล. สามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้ดีที่สุด โดยไม่ทำให้เกิดความผิดปกติใด ๆ กับเซลล์ แต่ประสิทธิภาพยังน้อยกว่าสารมาตรฐาน vitamin C ขนาด 50 มคก./มล. การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีของสารสกัดขนาด 25, 100, และ 250 มคก./มล. โดยทำการทดสอบกับเซลล์ B16F10 พบว่าสารสกัดสามารถลดปริมาณเม็ดสี (melanin) ได้โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และสารสกัดที่ขนาด 250 มคก./มล. ให้ผลดีกว่าสารมาตรฐาน kojic acid ขนาด 100 มคก./มล. แต่ประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ยังน้อยกว่าสารมาตรฐาน โดยสารสกัดที่ขนาด 250 มคก./มล. สามารถยับยั้งได้ 51.44% ในขณะที่สารมาตรฐาน kojic acid ขนาด 100 มคก./มล. สามารถยับยั้งได้ 70.89% จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สกัด 95% เอทานอลจากเปลือกต้นของกระแจะ มีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อการบำรุงผิวได้

Trop J Nat Prod Res. 2024;8(1):5852-60. doi: 10.26538/tjnpr/v8i1.21.