การทดสอบฤทธิ์ของสารเควอซิทิน (quercetin) ต่อ type 1 helper T (Th1)/Th2 และการควบคุมสมดุลของ T cells (Treg)/Th17 ต่อการบรรเทาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในหนูเม้าส์ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมปกติ, กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ด้วย ovalbumin (OVA), กลุ่มที่ 3-5 ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมกับการป้อนสาร quercetin บริสุทธิ์ ≥95% ขนาด 20, 35 และ 50 มก./กก./วัน ตามลำดับ โดยฉีด OVA 50 มคก. เข้าทางช่องท้อง ในวันที่ 0, 7 และ 14 และให้สาร quercetin ในวันที่ 15-27 และพ่น OVA ขนาด 10 มก./มล. 20 มคล. ทางจมูก ในวันที่ 21-27 ของการทดสอบ ประเมินอาการทางจมูก วัดระดับสารระบบภูมิคุ้มกัน (immunoglobulin) Treg/Th17 และตัวชี้วัดการอักเสบ ด้วย ELISA ตรวจนับแยกเซลล์อักเสบด้วยการตรวจสเมียร์ตัวอย่างของเหลวจากจมูก (nasal lavage fluid; NALF) โดยย้อมสี diff-quick ตรวจเยื่อบุจมูก (nasal mucosa) โดยการย้อมสี H&E, periodic acid Schiff (PAS) และ Giemsa ผลการทดสอบพบว่าสาร quercetin มีผลบรรเทาอาการถูจมูกและจามในหนูเม้าส์ ลดระดับของ IgE, IgG1 และ histamine และเพิ่มระดับของ IgG2 ในเลือด ลดจำนวนเซลล์อักเสบและเซลล์ goblet ที่เพิ่มขึ้นจากการถูกเหนี่ยวนำด้วย OVA นอกจากนี้ OVA ยังมีผลเพิ่มจำนวนเปอร์เซ็นต์ของ Treg cell เพิ่มระดับ IL-17, TGF-β, IL-6, TNF-α และลดจำนวนเปอร์เซ็นต์ของ Th17 cell ระดับ IL-10 และ FOXP3 สาร quercetin มีผลเปลี่ยนแปลงค่าดังกล่าวจากการถูกเหนี่ยวนำด้วย OVA และสาร quercetin ยังมีผลยับยั้งวิถีการส่งสัญญาณ NF-κB จากผลการทดสอบครั้งนี้นักวิจัยสรุปว่าสาร quercetin มีผลบรรเทาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในหนูเม้าส์ผ่านกลไกการควบคุมสมดุลอัตราส่วนของ Th1/Th2 และ Treg/Th17 และยับยั้งวิถีการส่งสัญญาณ NF-κB
*เควอซิทิน (quercetin) เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ พบได้ในพืชหลายชนิด เช่น หอมใหญ่และหอมแดง เป็นต้น