การศึกษาทางคลินิกผลของโสมอินเดีย (Withania somnifera) ต่อความเครียด อาการเหนื่อยล้า และฮอร์โมนเพศ ในอาสาสมัครน้ำหนักเกินหรืออ้วนเล็กน้อย ทั้งเพศหญิงและชาย อายุ 40-75 ปี และมีรายงานประเมินตัวเองว่ามีสภาวะเครียดและอาการเหนื่อยล้า แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับแคปซูลสารสกัดจากรากโสมอินเดีย 200 มก. 2 ครั้ง/วัน เช้าและเย็น เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดรากโสมอินเดียมีผลลดระดับความเครียดจากการประเมินด้วย Perceived Stress Scale อย่างไรก็ตามไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก และจากการประเมินด้วย Chalder Fatigue Scale พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดรากโสมอินเดียมีผลลดอาการเหนื่อยล้าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก และทำให้อัตราการผันแปรของการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลการทดสอบอื่น ๆ จากการประเมินด้วยตัวเอง ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในอาสาสมัครเพศชายที่ได้รับสารสกัดรากโสมอินเดียมีผลเพิ่มระดับฮอร์โมน testosterone และ luteinizing เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก จากผลการทดสอบครั้งนี้นักวิจัยสรุปว่าสารสกัดรากโสมอินเดียไม่มีผลที่ดีมากต่อการลดความเครียดจากแบบประเมินการรับรู้ความเครียด แต่มีผลต่อการบรรเทาอาการเหนื่อยล้าในอาสาสมัครน้ำหนักเกินวัยกลางคนและผู้สูงอายุได้
J Psychopharmacol. 2023;37(11):1091-104. doi: 10.1177/02698811231200023.