การศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดตำรับยาสตรีหลังคลอด* ที่เตรียมโดยวิธีการแช่สกัดใน 95% เอทานอล และวิธีการสกัดด้วยน้ำต้ม การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีในสารสกัดด้วย HPLC พบว่าสารสกัด 95% เอทานอล พบสารเคมี 7 ชนิด คือ brazilin, piperine, pipernonaline, artocarpin, (3S)-1-(3,4-dihydroxyphenyl)-7-phenyl-(6E)-6-hepten-3-ol, (3S)-1,7-diphenyl-(6E)-6-hepten-3-ol, และ (3R)-1,7-diphenyl-(4E,6E)-4,6-heptadiene-3-ol ส่วนสารสกัดน้ำต้มพบสารเคมี 1 ชนิด คือ brazilin การทดสอบฤทธิ์ต้านอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจพบว่าสารสกัด 95% เอทานอล และสารสกัดน้ำต้มยับยั้ง nitric oxide ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 20.59±0.03 และ 52.93±0.90 มคก./มล. ตามลำดับ การทดสอบป้อนสารสกัด 95% เอทานอล และสารสกัดน้ำต้ม ขนาด 100-400 มก./กก. ให้แก่หนูแรทที่เหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าบวมด้วยคาราจีแนน สามารถยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าได้ 20.81-38.25% นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัด 95% เอทานอล ขนาด 200-400 มก./กก. และสารสกัดน้ำต้ม ขนาด 100-400 มก./กก. สามารถลดระดับของ prostaglandin E2 ในเนื้อเยื่ออุ้งเท้าหนูแรทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าตำรับยาสตรีหลังคลอดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยยับยั้งการสร้าง nitric oxide และ prostaglandin E2 ซึ่งเป็นหลักฐานสนับสนุนการใช้ตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
*ตำรับยาสตรีหลังคลอด เป็นตำรับยาไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับรักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ประกอบด้วยสมุนไพร 17 ชนิด ได้แก่ แก่นแกแล แก่นขนุน ว่านชักมดลูก แก่นฝางเสน สะค้าน รากเจตมูลเพลิงแดง ดอกดีปลี โกศเชียง เถากำแพงเจ็ดชั้น พริกไทยล่อน รากช้าพลู ดอกคำฝอย ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง