การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่ม ปกปิดสองทาง และมียาหลอกกลุ่มควบคุม (randomized, double-blind, and placebo controlled trial) ในอาสาสมัครที่มีอาการปวดข้อเข่าเล็กน้อย (mild knee joint pain) จำนวน 80 คน ทั้งเพศชายและหญิง (อายุเฉลี่ย 38.4±14.0 ปี) เพื่อประเมินผลของการรับประทานสารสกัดจากเมล็ดงาขี้ม้อน (Perilla frutescens (L.) Britton var. frutescens) ต่ออาการปวดข้อเข่า โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานแคปซูลสารสกัดงาขี้ม้อนขนาด 700 มก. (ประกอบด้วยสารสกัดงาขี้ม้อน 486 มก. หรือ 34.7% และส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง 48.3% น้ำมันปาล์ม 11.3% ไขผึ้ง 3.8% และเลซิตินจากถั่วเหลือง 2.0%) วันละ 2 ครั้ง นานติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาหลอก 700 มก. (ประกอบด้วยน้ำมันถั่วเหลือง 83% น้ำมันปาล์ม 11.25% ไขผึ้ง 3.75% และ เลซิตินจากถั่วเหลือง 2.0%) ประเมินอาการปวดข้อเข่าของอาสาสมัครทั้งช่วงก่อนและหลังได้รับสารสกัดด้วยแบบทดสอบ Visual analog scale (VAS) และ Western Ontario and McMaster Universities Osteoarthritis (WOMAC) และตรวจวิเคราะห์ค่าทางโลหิตวิทยาเพื่อวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดภาวะการอักเสบและประเมินความปลอดภัยจากการได้รับสารสกัด ผลจากการศึกษาพบว่า มีอาสาสมัครจำนวน 75 คน ที่ทำการทดสอบได้สมบูรณ์ (กลุ่มสารสกัดงาขี้ม้อน 36 คน และกลุ่มยาหลอก 39 คน) หลังจากทำการศึกษาจนครบ 8 สัปดาห์ ค่า VAS และ WOMAC ของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการทดลอง โดยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดงาขี้ม้อนจะมีค่าดังกล่าวลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (ค่า VAS ลดลงเท่ากับ 19.6±10.9 และ 6.8±10.5 และค่า WOMAC ลดลงเท่ากับ 20.5±14.7 และ 9.3±16.5 สำหรับกลุ่มสารสกัดงาขี้ม้อนและกลุ่มควบคุม ตามลำดับ) ส่วนระดับโปรตีนและเอนไซม์ซึ่งเป็นดัชนีนี้วัดถึงภาวะอักเสบและค่าทางโลหิตวิทยา ของทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า ไม่มีความแตกต่างทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างช่วงก่อนและหลังการทดลอง และไม่มีความแตกต่างกันระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม และการทดสอบความปลอดภัยด้วย rutine laboratory test ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การรับประทานสารสกัดงาขี้ม้อนมีผลช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าในอาสาสมัครที่มีอาการปวดข้อเข่าเล็กน้อยและมีความปลอดภัย
Front Pharmacol. 2023;14:1114410.