ความเป็นพิษของผลยอต่อพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์

ศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดน้ำจากผลยอ (Morinda citrifolia L.) ในหนูแรทตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 21 วัน) จำนวน 48 ตัว แบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ป้อนน้ำเปล่า (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ป้อนสารสกัดน้ำผลยอทางสายสวนกระเพาะ ขนาดวันละ 200, 400 และ 750 มก./กก. ตามลำดับ (ปริมาณสารสกัดที่ป้อนเทียบเท่ากับปริมาณที่ได้รับในในมนุษย์เท่ากับ 32, 64 และ 120 มก./กก. ตามลำดับ) โดยแบ่งป้อนวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า (9.00 น.) และเย็น (16.00 น.) เป็นระยะเวลา 21 วัน ในระหว่างการเลี้ยงสังเกตพฤติกรรม การกินได้ และน้ำหนักตัวของหนูแรท เมื่อครบ 21 วัน ทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีและชำแหละซากเพื่อตรวจวิเคราะห์อวัยวะภายในและตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ ผลจากการศึกษาพบว่า ในระหว่างการเลี้ยง ไม่พบพฤติกรรมผิดปกติในหนูทุกกลุ่ม ปริมาณการกินน้ำและอาหารไม่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หนูแรทกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาดสูง (750 มก./กก.) มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าทุกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ผลการตรวจวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีในเลือดพบว่า หนูแรทกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาดสูงมีระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase (AST) สูงกว่าทุกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีผลเสียต่อระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของหนูแรทตั้งครรภ์ (maternal reproductive performance) คือ ลดจำนวนการฝังตัวของตัวอ่อน (number of implantations) ลดจำนวนตัวอ่อนที่มีชีวิต (lives fetuses) ลดน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์ (maternal weight) และมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียตัวอ่อนก่อนฝังตัวในมดลูก (percentage of preimplantation loss) สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น นอกจากนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์ลักษณะของตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์พบว่า หนูแรทที่ได้รับสารสกัดขนาด 400 มก./กก. มีผลทำให้ตัวอ่อนแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยกว่าอายุครรภ์ (small for gestational age) มีจำนวนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลลดประสิทธิภาพของรก (placental efficiency) ลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ การป้อนสารสกัดน้ำจากผลยอขนาดวันละ 400 และ 750 มก./กก. ให้แก่หนูแรทตั้งครรภ์มีผลเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของตัวอ่อนในครรภ์ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะภายใน (percentage of fetuses with visceral anomalies) เกิดภาวะท่อไตโป่งพอง (hydroureter) ไตบวมน้ำ (hydronephrosis) หลอดลมพองตัว (dilated trachea) และกระดูกผิดรูป (skeletal anomalies) ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การบริโภคสารสกัดน้ำจากผลยอในขนาดสูงขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์

Drug Chem Toxicol. 2023;46(3):609-15.