การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในชั้นผิวหนัง ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ของสารสกัดเมทานอลจากใบกาแฟ (Coffea arabica) โดยทำการศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) บนเซลล์ผิวหนังเพาะเลี้ยง (human epidermal keratinocytes; HaCaT cells) ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบด้วย interferon-alpha (IFN-α) และ tumour necrosis factor-alpha (TNF-α) และทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอาการผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ด้วยการทาสารสกัดความเข้มข้น 200 และ 1,000 มคก./มล. ลงบนผิวหนังบริเวณหลัง (โกนขนออก) และหลังใบหูของหนูเม้าส์ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังด้วยการทา 2,4-dinitrochlorobenzene (DNCB) เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ ผลจากการศึกษาพบว่า การบ่มเซลล์ HaCaT ด้วยสารสกัดเมทานอลจากใบกาแฟที่ความเข้มข้น 5-50 มคก./มล. มีผลลดระดับการเกิด reactive oxygen species ในเซลล์ ซึ่งบ่งชี้ถึงการเกิดอนุมูลอิสระ และมีผลยับยั้งการเคลื่อนที่ของ nuclear factor-kappa B (NF-κB) เข้าสู่นิวเคลียส นอกจากนี้ยังมีผลลดการแสดงออกของ interleukin (IL)-1β, IL-6, NLR family pyrin domain-containing 3 (NLRP3), caspase-1, high-mobility group box 1 (HMGB1) และ receptor for advanced glycation end products (RAGE) ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะอักเสบ และมีผลช่วยฟื้นฟูการแสดงออกของโปรตีนซึ่งบงชี้ถึงการทำงานของโครงสร้างชั้นผิว (skin barrier function) ได้แก่ filaggrin และ claudin-1 ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอาการผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ในหนูเม้าส์พบว่า การทาสารสกัดเมทานอลจากใบกาแฟมีผลลดอาการแดงของผิวหนังและลดความหนา (อาการบวม) ของใบหูหนูเม้าส์ ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองและการอักเสบของผิวหนังเนื่องจากสาร DNCB ในสัปดาห์ที่ 6 ของการศึกษา นอกจากนี้ยังมีผลลดการสูญเสียน้ำของชั้นผิว (transepidermal water loss; TEWL) และลดการแสดงออกของไซโตไคน์ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะอักเสบในโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งได้แก่ IFN-α และ thymic stromal lymphopoietin (TSLP) ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมทานอลจากใบกาแฟ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้
Int J Mol Sci. 2023;24(15):12367.