ฤทธิ์ต้านภาวะซึมเศร้าของสารสกัดเมล็ดเพกา

ศึกษาฤทธิ์ต้านภาวะซึมเศร้าของสารสกัด 95% เอทานอลจากเมล็ดเพกา ด้วยการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ monoamide oxidase A และ B (MAO-A และ MAO-B) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสลายสารสื่อประสาท โดยทำการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเพกาสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าว โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ลงครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 36.07±0.4704 และ 146.8±4.939 มคก./มล. ตามลำดับ และเมื่อทำการทดสอบในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีภาวะเครียดอย่างอ่อนที่ไม่สามารถคาดเดาได้แบบเรื้อรัง (unpredictable chronic mild stress) ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในทุกสัปดาห์ ได้แก่ การงดน้ำและอาหาร (18 ชม.) การให้อยู่ในคอกที่มีพื้นลาดเอียง 45 องศา (12 ชม.) การขัดขวางไม่ให้เข้าถึงอาหาร (1 ชม.) การแขวนขวดเปล่าที่ไม่มีน้ำดื่ม (3 ชม.) ให้อยู่ในคอกเปียก (21 ชม.) แสงสว่างตลอดเวลา (36 ชม.) เสียงดังเป็นช่วง ๆ (3 และ 5 ชม.) และการจับเข้าคู่ (2 ชม.) เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ โดยเริ่มป้อนสารสกัดเอทานอลเมล็ดเพกาในสัปดาห์ที่ 4 (ขนาด 100 และ 500 มก./กก./วัน) จากนั้นทำการทดสอบด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้เพื่อเอาชีวิตรอดของหนูด้วยวิธี Sucrose preference test, Y-maze test, tail suspension test และ Forced swimming test ในวันที่ 43, 45 และ 48 ของการศึกษา ผลจากการศึกษาพบว่า สารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเพกาสามารถบรรเทาภาวะสิ้นยินดี (anhedonia) และสิ้นหวัง (despair) ในหนูเม้าส์โดยผ่าน 2 กลไก ได้แก่ 1.) ช่วยฟื้นฟูการทำงานของ hypothalamic-pituitary-adrenal (HPA) axis โดยมีผลยับยั้งการแสดงออกของยีนส์ FK506 binding protein 51 (FKBP5) และ serine/threonine-protein kinase 1 (SGK-1) และเพิ่มการแสดงออกของ glucocorticoid receptor (GR) และ 2.) ช่วยฟื้นฟูการสร้างและการแบ่งตัวของเซลล์ประสาทใหม่ (neurogenesis) โดยมีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนส์ brain-derived neurotrophic factor (BDNF) และ cyclic adenosine monophosphate response element binding protein (CREB) ในบริเวณสมองส่วนหน้าและฮิปโปแคมปัส และเมื่อวิเคราะห์สารที่พบในสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเพกาด้วยวิธี HPLC พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ baicalin, baicalein และ chrysin ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากเมล็ดเพกามีฤทธิ์ต้านภาวะซึมเศร้าได้

Nutrients. 2023;15(22):4742.