ศึกษาผลของการได้รับสารสกัด 50% เอทานอลจากใบยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus) ต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูแรทเพศผู้จำนวน 40 ตัว โดยทำการแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม (กลุ่มละ 8 ตัว) กลุ่มแรกเลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติ ไม่ได้รับสารสกัดใด ๆ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ป้อน 50% เอทานอล (กลุ่มยาหลอก) กลุ่มที่ 3, 4 และ 5 ป้อนสารสกัด 50% เอทานอลจากใบยูคาลิปตัส ขนาดวันละ 175, 350 และ 700 มก./กก. นานติดต่อกัน 28 วัน เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ทำการเก็บตัวอย่างเลือดและชำแหละซากเพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่ออวัยวะในระบบสืบพันธุ์ ทำการวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีและลักษณะทางกายวิภาคที่เปลี่ยนแปลง ผลจากการศึกษาพบว่า การป้อนสารสกัด 50% เอทานอลจากใบยูคาลิปตัส ไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและน้ำหนักอัณฑะของหนูแรท อย่างไรก็ตาม การป้อนสารสกัดทั้ง 3 ขนาด ทำให้จำนวนเซลล์ต้นกำเนิดของอสุจิ (number of spermatogonial cells) ในระยะต่างๆ ได้แก่ spermatogonium, spermatocyte, spermatid และจำนวนอสุจิ (sperm) เพิ่มขึ้น และทำให้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยของเซลล์เลย์ดิกและหลอดสร้างอสุจิ รวมถึงความหนาของผนังหลอดสร้างอสุจิอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมและกลุ่มยาหลอก โดยมีประสิทธิผลขึ้นกับขนาดความเข้มข้น ผลการตรวจวิเคราะห์ระดับฮอร์โมนในเลือดพบว่า การป้อนสารสกัด 50% เอทานอลจากใบยูคาลิปตัสขนาด 350 และ 700 มก./กก. มีผลเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมและกลุ่มยาหลอก ในขณะที่การป้อนสารสกัดทั้ง 3 ขนาดส่งผลให้ระดับ luteinizing hormone (LH) และ follicle stimulating hormone (FSH) มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมและกลุ่มยาหลอก แต่ไม่มีความแตกต่างกันในเชิงสถิติ ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า สารสกัดสกัด 50% เอทานอลจากใบยูคาลิปตัสอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของอสุจิและฮอร์โมนเพศชายได้
Arch Razi Inst. 2023;78(1):115-123.