ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและป้องกันความเสียหายของตับของสารสกัดจากเปลือกส้มเขียวหวาน

ศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัดน้ำจากเปลือกส้มเขียวหวาน (Citrus reticulata) โดยทำการทดลองในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้ตับเกิดความเสียหายและเกิดภาวะออกซิเดชันด้วยการป้อนสารกำจัดแมลง abamectin (ABM) โดยแบ่งหนูแรทออกเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่มละ 7 ตัว) กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติ โดยไม่ได้รับสารสกัดใด ๆ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ป้อนสารสกัดเปลือกส้มเขียวหวานขนาดวันละ 400 มก./กก. นานติดต่อกัน 14 วัน กลุ่มที่ 3 ป้อนสาร ABM ขนาดวันละ 2 มก./กก. นานติดต่อกัน 5 วัน และกลุ่มที่ 4 ป้อนสารสกัดจากเปลือกส้ม 400 มก./กก. หลังจากนั้น 1 ชม. ป้อนสาร ABM 2 มก./กก. นานติดต่อกัน 5 วัน จากนั้นป้อนเฉพาะสารสกัดเปลือกส้มต่อเนื่องไปจนครบ 14 วัน เมื่อสิ้นสุดการทดลองทำการเก็บตัวอย่างเลือดและตัวอย่างเนื้อเยื่อตับเพื่อตรวจวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี ผลจากการศึกษาพบว่า การป้อนสาร ABM มีผลลดจำนวนฮีโมโกลบิน เม็ดเลือดแดง และเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในขณะที่กลุ่มที่ป้อนสารสกัดเปลือกส้มเขียวหวานเพียงอย่างเดียวไม่ส่งผลต่อค่าดังกล่าว และการป้อนสารสกัดเปลือกส้มก่อนป้อนสาร ABM มีผลช่วยคืนค่าโลหิตวิทยาของหนูให้กลับมาสู่ช่วงใกล้เคียงค่าปกติ (กลุ่มควบคุม) ได้ ผลการวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบว่า การป้อนสารสกัดเปลือกส้มเขียวหวานมีผลเพิ่มระดับโปรตีนและการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระซึ่งได้แก่ reduced glutathione (GSH), superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidase (GPx), glutathione reductase (GR) และ glutathione S-transferase (GST) และลดระดับ malondialdehyde (MDA), hydrogen peroxide (H2O2) และ protein carbonyl content (PCC) ในเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ป้อนสาร ABM เพียงอย่างเดียวและกลุ่มที่ป้อนทั้งสารสกัดและสาร ABM ผลการวิเคราะห์การทำงานของตับพบว่า การป้อนสาร ABM ไม่ส่งผลให้หนูมีอาการผิดปกติหรือตายในช่วงระหว่างการทดลอง แต่มีผลเพิ่มระดับการทำงานของเอนไซม์ที่บ่งชี้การทำงานของตับได้แก่ alanine aminotransferase (ALT), aspartate aminotransferase (AST) และ lactate dehydrogenase (LDH) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งการป้อนสารสกัดจากเปลือกส้มเขียวหวานก่อนป้อนสาร ABM มีผลช่วยปรับระดับของค่าดังกล่าวให้ใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุมได้ เช่นเดียวกับดัชนีบ่งชี้ถึงการอักเสบในเนื้อเยื่อตับซึ่งพบว่า การป้อนสาร ABM มีผลเพิ่มการแสดงออกของ tumor necrosing factor-α (TNF-α), nuclear factor-kappa B (NF-κB) และ caspase-3 และจากการตรวจลักษณะทางจุลกายวิภาคของเนื้อเยื่อตับพบการแทรกซึมของเม็ดเลือดขาวซึ่งแสดงถึงภาวะการอักเสบ และการป้อนสารสกัดจากเปลือกส้มเขียวหวานก่อนป้อนสาร ABM มีผลช่วยปรับค่าดังกล่าวให้ดีขึ้นใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีในเลือดอื่น ๆ พบว่า การป้อนสาร ABM มีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ LDL-C, VLDL-C, urea และ creatinine และลด HDL, albumin และ globulin อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งการป้อนสารสกัดจากเปลือกส้มเขียวหวานก่อนป้อนสาร ABM มีผลช่วยคืนค่าทางชีวเคมีในเลือดดังกล่าวให้ดีขึ้นใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุมได้ ผลจากการศึกษาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากเปลือกส้มเขียวหวานมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งความเสียหายของตับซึ่งเกิดจากสารกำจัดแมลง ABM ได้

Tissue Cell. 2024;87:102321.