ศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมองของสารสกัดน้ำจากใบและเมล็ดโหระพา (Ocimum basilicum) ในแมลงวันทอง (Drosophila melanogaster) ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการเสื่อมของระบบประสาทด้วยการผสม aluminium chloride (AlCl3) ลงในอาหาร (40 มิลลิโมลาร์) โดยผสมสารสกัดดังกล่าวลงในอาหารที่ใช้เลี้ยงแมลงวันที่ความเข้มข้น 1% และ 2% เป็นระยะเวลา 7 วัน เมื่อสิ้นสุดการทดลองทำการทดสอบประสิทธิภาพการเคลื่อนไหว และวิเคราะห์ระดับโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระและการทำงานของสมอง ผลจากการศึกษาพบว่า สารสกัดจากใบและเมล็ดโหระพาที่ความเข้มข้น 1% มีผลช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของแมลงวันทองเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (การกระตุ้นด้วย AlCl3 เพียงอย่างเดียว) และที่ความเข้มข้นทั้งสองขนาดมีผลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวของแมลงวันทองเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระพบว่า สารสกัดจากใบและเมล็ดโหระพามีผลลดระดับ reactive oxygen species (ROS) และ thiobarbituric acid reactive species (TBARS) ซึ่งบ่งชี้ถึงการเกิดอนุมูลอิสระได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และยังมีผลเพิ่มระดับ thiol content และการทำงานของเอนไซม์ glutathione-S-transferase (GST), superoxide dismutase (SOD) และ catalase (CAT) ซึ่งเกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ โดยสารสกัดจากใบจะให้ผลดีกว่าสารสกัดจากเมล็ด นอกจากนี้ สารสกัดจากโหระพายังมีผลลดการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) และ monoamine oxidase (MAO) ซึ่งมีหน้าที่ในการทำลายสารสื่อประสาทในสมองได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยสารสกัดจากใบที่ความเข้มข้น 2% มีประสิทธิภาพดีที่สุด และเมื่อทำการวิเคราะห์สารสำคัญด้วยวิธี high performance liquid chromatography (HPLC) พบสารกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) โดยสารสกัดจากใบมีสาร gallic acid มากที่สุด และสารสกัดจากเมล็ดมีสาร p-coumaric acid มากที่สุด ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากใบและเมล็ดโหระพามีฤทธิ์ในการปกป้องสมอง โดยสารสกัดจากส่วนใบจะให้ประสิทธิภาพดีกว่าสารสกัดจากเมล็ด
Drug Chem Toxicol. 2024:1-11.