ศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมองและฟื้นฟูความจำของสารสกัดด้วย 70% เอทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นโหระพา (Ocimum basilicum L.) ในหนูแรทสูงอายุ (2 ปี) โดยป้อนสารสกัดดังกล่าวขนาดวันละ 50, 100 และ 150 มก./กก. นานติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ทำการทดสอบพฤติกกรรมการเรียนรู้และความจำด้วยวิธี Morris water maze (MWM) test และ Passive avoidance (PA) test และทำการเก็บตัวอย่าเลือดและตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองเพื่อตรวจวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีและการแสดงออกของโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเรียนรู้และความจำ ผลจากการทดสอบด้านพฤติกรรมด้วยวิธี MWM พบว่า การป้อนสารสกัดขนาด 150 มก./กก. มีผลทำให้หนูแรทใช้เวลาในการค้นหาแท่นในอ่างน้ำ (time to reach the hidden plat form) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด (กลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี) แ ละใช้เวลาใกล้เคียงกับหนูแรทกลุ่มอายุน้อย (กลุ่มควบคุมอายุ 2 เดือน) เช่นเดียวกับผลการทดสอบด้วยวิธี PA ซึ่งพบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดขนาด 150 มก./กก. ใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่บริเวณทึบแสง (latency to enter the dark compartment) ที่มีกระแสไฟฟ้าได้นานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี ซึ่งบ่งชี้ถึงการจดจำและหลีกเลี่ยงบริเวณที่อันตรายได้ นอกจากนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์การเกิดอนุมูลอิสระและการแสดงออกของโปรตีนและเอนไซม์ที่บ่งชี้ถึงภาวะอักเสบในตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) และเยื่อหุ้มสมอง (cortex) พบว่า หนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี จะมีระดับ malondialdehyde (MDA) ที่บ่งชี้ถึงการเกิดภาวะออกซิเดชันสูงกว่าหนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 เดือนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการป้อนสกัดโหระพาขนาด 150 มก./กก. ส่งผลให้ระดับ MDA ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี และหนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี จะมีระดับ thiol content รวมถึงระดับการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase (SOD) และ catalase (CAT) ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระต่ำกว่าหนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 เดือน อย่างมีนัยสำคัญ การป้อนสารสกัดโหระพาขนาด 150 มก./กก. มีผลเพิ่มระดับของโปรตีนและเอนไซม์ดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี เช่นเดียวกับผลการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องในภาวะอักเสบที่พบว่า หนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี จะมีระดับ interleukin-6 (IL6), nitrite และ glial fibrillary acidic protein (GFAP) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 เดือน ซึ่งการป้อนสารสกัดจากโหระพาขนาด 100 และ 150 มก./กก. มีผลลดระดับโปรตีนและเอนไซม์ดังกล่าวลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี และหนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี จะมีระดับ brain-derived neurotrophic factor (BDNF) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและรักษาเซลล์ประสาทลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 เดือน การป้อนสารสกัดจากโหระพาขนาด 150 มก./กก. มีผลเพิ่มระดับโปรตีนดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหนูแรทกลุ่มควบคุมอายุ 2 ปี ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดด้วย 70% เอทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นโหระพา ช่วยฟื้นฟูกระบวนการเรียนรู้และจดจำรวมทั้งช่วยบรรเทาภาวะสมองเสื่อมจากการที่มีอายุมากขึ้นได้
Exp Aging Res. 2024;50(4):443-458.