ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากผลมะกรูด

ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำและเมทานอลจากผลมะกรูดด้วยการวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ด้วยวิธี Folin-Ciocalteu method และ aluminum chloride colorimetric method ตามลำดับ พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด มีปริมาณสารดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูง (ปริมาณสารประกอบฟีนอลิกเท่ากับ 24.77±0.97 และ 20.52±0.35 มก. เทียบเท่า gallic acid/ก. ของสารสกัด และมีฟลาโวนอยด์เท่ากับ 15.43±2.03 และ 6.95±0.43 มก. เทียบเท่า quercetin/ก. ของสารสกัด สำหรับสารสกัดน้ำและเมทานอล ตามลำดับ) และเมื่อวิเคราะห์สารสำคัญด้วยวิธี high liquid performance chromatography (HPLC) พบว่ามีสาร gallic acid, catechin, caffeic acid, rutin และ quercetin จากผลการวิเคราะห์สารสกัดน้ำจะมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์สูงกว่าสารสกัดเมทานอล จึงถูกเลือกนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) assay และ nitric oxide (NO) radical scavenging assay พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระลงครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 14.91 และ 4.46 มคก./มล. ตามลำดับ เมื่อทดลองนำสารสกัดน้ำจากผลมะกรูดมาบ่มร่วมกับเซลล์ผิวหนังมนุษย์คือ human keratinocyte (HaCaT) และ human 68 fibroblast (HFB) ที่ความเข้มข้น 25, 50, 100 และ 200 มคก./มล. พบว่า ทุกค่าความเข้มข้นไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ และสารสกัดน้ำจากผลมะกรูดยังมีผลยับยั้งการเกิด reactive oxygen species (ROS) ในเซลล์ ซึ่งถูกกระตุ้นด้วย hydrogen peroxide (H2O2) โดยมีประสิทธิผลขึ้นกับขนาดความเข้มข้น (dose-dependent) นอกจากนี้ การทดสอบผลของสารสกัดต่อการเคลื่อนที่ของเซลล์ HaCaT และ HFB เพื่อวิเคราะห์ถึงฤทธิ์ในการรักษาแผลด้วยวิธี scratch assay พบว่า สารสกัดน้ำจากผลมะกรูดความเข้มข้น 50, 100 และ 200 มคก./มล. มีผลกระตุ้นการเคลื่อนที่ของเซลล์ผิวหนังทั้ง 2 ชนิดได้ โดยมีประสิทธิผลขึ้นกับขนาดความเข้มข้น ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากผลมะกรูดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นการเคลื่อนที่ของเซลล์ผิวหนัง องค์ความรู้ที่ได้อาจเป็นประโยชน์ในการต่อยอดพัฒนาเพื่อใช้เป็นยารักษาบาดแผลได้

Heliyon. 2023;9(2):e13068.