การศึกษาทางคลินิกแบบไขว้กลุ่ม (crossover design) เพื่อศึกษาผลของการรับประทานมะม่วงดิบต่อปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือดและโรคทางเมแทบอลิก* (cardiometabolic risk factor) ในอาสาสมัครที่มีภาวะอ้วน (BMI ≥ 26 kg/m2) จำนวน 27 คน (เพศชาย 16 คน และเพศหญิง 11 คน) อายุระหว่าง 18-55 ปี โดยอาสาสมัครจะได้รับมะม่วงดิบสายพันธุ์ทอมมี่ แอตกินส์ (Tommy Atkins), เค้นท์ (Kent), หรือเฮเดน (Haden) ขนาด 166 ก./วัน (ให้พลังงานประมาณ 100 กิโลแคลอรี) หรือขนมไขมันต่ำ (low-fat Nilla wafer cookies) ขนาด 24 ก./วัน ทำการทดสอบนาน 12 สัปดาห์ และทำการล้างยา (washout period) นาน 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงสลับกลุ่ม พบว่ากลุ่มที่ได้รับมะม่วงดิบจะมีระดับน้ำตาลในเลือด, C-reactive protein (CRP), และการทำงานของเอนไซม์ aspartate transaminase ลดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่ค่าความสามารถต้านอนุมูลอิสระโดยรวม (total antioxidant capacity) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว, เปอร์เซนต์ไขมันในร่างกาย (body fat %), ความดันโลหิต, ระดับอินซูลิน, หรือระดับไขมันในเลือด (lipid profile) ส่วนกลุ่มที่ได้รับขนมไขมันต่ำจะมีน้ำหนักตัว, ระดับอินซูลิน, CRP, และระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การรับประทานมะม่วงดิบแทนขนมไขมันต่ำ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดและโรคทางเมแทบอลิก รวมทั้งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดการอักเสบในร่างกายได้
* โรคทางเมแทบอลิก หรือ ภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) คือ ภาวะที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติไป ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกิน น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อเป็นนาน ๆ จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมาได้