การใช้ใบน้อยหน่าเพื่อควบคุมเนื้องอกชนิด squamous papilloma ในช่องปาก

รายงานผู้ป่วย: ผู้ป่วยเพศชายอายุ 36 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าพบเนื้องอก squamous papilloma บริเวณเพดานปาก (palatal region) ขนาดของรอยโรคได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 1 ปี โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เนื้องอกมีลักษณะเป็นก้อนแข็งเจริญติดอยู่กับเพดานปาก ผิวหน้าขรุขระ มีขนาดประมาณ 2.5x1.5 ซม. ไม่มีอาการเจ็บปวดหรือความรู้สึกผิดปกติระหว่างการพูดหรือกลืนน้ำลาย ตรวจคลำไม่พบต่อมน้ำเหลือง และไม่พบรอยโรคหรือบาดแผลอื่น ๆ บนร่างกาย นอกจากนี้พบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การตรวจหาเชื้อ HIV ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสตับอักเสบบี มีผลเป็นลบ และผลการตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อไม่พบเชื้อไวรัส ผู้ป่วยถูกกำหนดให้ทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์อีกครั้งหลังจากตรวจครั้งแรกเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าเนื้องอก squamous papilloma หายไป จากการสอบถามผู้ป่วยได้ให้ข้อมูลว่า ไม่ได้รับการผ่าตัดหรือใช้ยาแผนปัจจุบันใด ๆ สิ่งที่ผู้ป่วยทำคือ เคี้ยวใบน้อยหน่าแล้วบ้วนทิ้ง ประมาณ 2- 3 วัน เนื้องอกจะยุบตัวลง จากการตรวจไม่พบร่องรอยของการเป็นแผลและเนื้อเยื่อเพดานปากมีลักษณะดี แม้ว่าข้อมูลที่พบใหม่นี้ จะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของใบน้อยหน่าเพื่อควบคุมเนื้องอก squamous papilloma ในช่องปาก แต่ยังจำเป็นต้องมีการติดตามเพื่อประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเนื้องอกชนิดดังกล่าวสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก และควรมีการศึกษาวิจัยเชิงลึกเพิ่มเติม

Cureus. 2023;15(2):e34806.