ศึกษาผลของการใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกกระดังงาในการช่วยคลายความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีรังสีร่วมรักษา (interventional radiology) จำนวน 44 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ให้อาสาสมัครติดกระดาษปอสา (mulberry paper) 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นหยดน้ำมันหอมระเหยดอกกระดังงาขนาด 25 มคล. บนเสื้อคลุมตรงตำแหน่งบริเวณไหล่ นาน 12 ชม. (เวลา 18.00 น. ถึง 6.00 น. ของวันถัดไป) ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้อาสาสมัครติดกระดาษปอสา 2 ชิ้น ซึ่งหยดน้ำเปล่าขนาด 25 มคล. (กลุ่มควบคุม) ประเมินความเครียดและวิตกกังวลของอาสาสมัครด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำลายของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมน cortisol และเอนไซม์ alpha-amylase ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงภาวะเครียดด้วยวิธี ELISA และ clorimetric method ตามลำดับ และให้อาสาสมัครทำแบบประเมินความวิตกกังวล Spielberger State-Trait Anxiety Inventory (STAI) รวมถึงการวัดความดันโลหิตและอัตราเต้นของหัวใจ ทั้งช่วงก่อนและหลังการทดสอบ ผลจากการศึกษาพบว่า ภายหลังการทดสอบอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับน้ำมันหอมระเหยดอกกระดังงามีค่าระดับเอนไซม์ alpha-amylase ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ค่าคะแนนจากแบบประเมินภาวะวิตกกังวล 2 แบบ ได้แก่ ความวิตกกังวลแฝง (STAI-Trait) และความวิตกกังวลขณะเผชิญ (STAI-State) ของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม มีค่าลดลงจากช่วงก่อนการทดสอบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ค่าความวิตกกังวลแฝงของอาสาสมัครในกลุ่มที่ได้รับน้ำมันหอมระเหยดอกกระดังงามีเปอร์เซ็นต์ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม โดยมีค่าเท่ากับ 15.66±15.89% และ 7.31±16.62% ตามลำดับ และยังพบว่า ระดับเอนไซม์ alpha-amylase ที่ลดลง สัมพันธ์กับค่าคะแนนความวิตกกังวล (STAI anxiety score) ส่วนผลต่อระดับ cortisol ยังไม่ชัดเจน ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า น้ำมันดอกกระดังงามีผลช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีรังสีร่วมรักษาได้
J Evid Based Integr Med . 2023;28(1-9):2515690X221150527.