การศึกษาในผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ระดับ 2 จำนวน 23 ราย อายุเฉลี่ย 38.5 ปี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการขัด (scrub) ทำความสะอาดแผลด้วยสบู่เหลวซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัดฟ้าทะลายโจรและน้ำมันงาขี้ม้อน (Andrographis paniculata and Perilla oil liquid soap; AP soap) และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการขัดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาคลอเฮกซิดีน 4% โดยผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานในการรักษาแผลไฟไหม้ ประเมินผลการศึกษาจากเปอร์เซ็นต์การสร้างเนื้อเยื่อบุผิว (% epithelialization), ระยะเวลาในการรักษา (healing time) ประเมินความปวดด้วย Pain numeric rating scale, ประเมินความชุ่มชื้นของบาดแผลโดยดูจากอาการคันด้วย Itching visual analog scale หลังการทำความสะอาดบาดแผล และในวันที่ 3, 7, 14, 21 ของการรักษา ประเมินอาการที่ระบุถึงผิวแห้งหลังทำความสะอาดแผล ได้แก่ การตกสะเก็ด (scaling) ความหยาบ (roughness) รอยแดง (redness) และรอยแตก (cracks) ด้วย SRRC rating score ในวันที่ 3, 7, 14 ของการรักษา พบว่าระยะเวลาในการรักษาแผล และระยะเวลาที่รักษาตัวในโรงพยาบาลของทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เปอร์เซ็นต์การสร้างเนื้อเยื่อบุผิวของกลุ่ม AP soap จะสูงกว่ากลุ่มควบคุม เท่ากับ 97.8% และ 96.77% ตามลำดับ ในวันที่ 21 ของการศึกษา คะแนนความปวด อาการคัน และอาการที่ระบุถึงผิวแห้งลดลงในกลุ่ม AP soap เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ผู้ป่วยทุกรายแผลจะหายดีภายใน 4 สัปดาห์หลังจากได้รับบาดเจ็บ และไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายในทั้ง 2 กลุ่ม สรุปได้ว่าผู้ป่วยที่ได้รับการทำความสะอาดแผลด้วยสบู่เหลวซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัดฟ้าทะลายโจรและน้ำมันงาขี้ม้อน จะมีอาการปวดแผลลดลง และผิวมีความชุ่มชื้นดีกว่าเมื่อเทียบกับน้ำยาคลอเฮกซิดีน 4%
Siriraj Med J. 2023;75(11):809-16.