สาร hirsutidin เป็นสารสำคัญในกลุ่ม anthocyanins ซึ่งพบได้มากในกลีบดอกแพงพวยฝรั่ง (Catharanthus roseus) การทดสอบฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยเอทานอลของสาร hirsutidin ในหนูแรท โดยสุ่มแยกหนูเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 24 ตัว กลุ่มที่ 1 ได้รับน้ำเกลือ (normal control), กลุ่มที่ 2 เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอลเพียงอย่างเดียว (ethanol control), กลุ่มที่ 3 ได้รับสาร hirsutidin ขนาด 10 มก./กก. และเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอล, และกลุ่มที่ 4 ได้รับสาร hirsutidin ขนาด 20 มก./กก. และเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอล โดยหนูจะได้รับสารทดสอบทั้งหมดทางปากเป็นเวลานาน 7 วัน และในวันที่ 7 หลังการอดอาหาร 24 ชม. หนูในกลุ่มที่ 2-4 จะได้รับเอทานอลขนาด 5 มล./กก. หลังจากนั้น 4 ชม. จึงทำการวิเคราะห์ผล พบว่าเอทานอลทำให้กระเพาะอาหารของหนูมีความเป็นกรด และทำให้เกิดแผล ระดับ tumor necrosis factor-α (TNF-α), aspartate aminotransferase (AST), alanine transaminase (ALT), alkaline phosphatase (ALP), และสารก่อการอักเสบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งการได้รับสาร hirsutidin ช่วยทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลง ป้องกันการเกิดแผล และทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติต่าง ๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยสาร hirsutidin ขนาด 10 มก./กก. ทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลงได้ดีกว่า, ระดับ reduced glutathione (GSH), superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), nitric oxide (NO) เพิ่มมากกว่า, และระดับ malondialdehyde (MDA), และ TNF-α ลดลงดีกว่าสาร hirsutidin ขนาด 20 มก./กก. ในขณะที่สาร hirsutidin ขนาด 20 มก./กก. ทำให้ค่าดัชนีการเกิดแผล (ulcer index), ระดับ myeloperoxidase (MPO), prostaglandin E2 (PGE2), AST, ALT, ALP, interleukin-1β (IL-1β), และ IL-6 ลดลงได้ดีกว่าสาร hirsutidin ขนาด 10 มก./กก. และการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันในหนูเม้าส์ โดยให้หนูกินสาร hirsutidin ขนาด 10 และ 20 มก./กก. เพียงครั้งเดียว แล้วสังเกตอาการนาน 14 วัน พบว่า ไม่เกิดความผิดปกติใด ๆ และไม่พบการตายของสัตว์ทดลอง แสดงให้เห็นว่า สาร hirsutidin จากดอกแพงพวยฝรั่งในขนาดที่ทำการทดสอบค่อนข้างมีความปลอดภัยและอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยเอทานอล
J Nat Prod. 2022;85:2406-12. doi: 10.1021/acs.jnatprod.2c00620.