การทดสอบฤทธิ์ต้านการเกิด foam cell ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลจากใบคะน้าเม็กซิโก (Cnidoscolus aconitifolius (Mill.) I. M. Johnst.) โดยนำส่วนของใบอ่อน, ใบที่โตเต็มที่, และใบแก่ของคะน้าเม็กซิโกมาต้มในน้ำเดือดนาน 10 นาทีเพื่อกำจัดสารพิษ hydrocyanic glycosides จากนั้นนำมาอบให้แห้ง บดให้ละเอียด และแช่สกัดด้วย 50%เอทานอล นำสารสกัดที่ได้มาทำให้แห้ง จากนั้นจึงนำไปวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญและทดสอบฤทธิ์ ด้วยวิธีต่าง ๆ การวิเคราะห์ปริมาณผลรวมสารฟีนอลิกและสารฟลาโวนอยด์พบว่าสารสกัดจากใบแก่มีปริมาณผลรวมสารฟีนอลิกและสารฟลาโวนอยด์มากที่สุด รองลงมาคือใบที่โตเต็มที่ และใบอ่อน ตามลำดับ การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์และฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร nitric oxide (NO) ในเซลล์แมคโครฟาจชนิด RAW264.7 จากการเหนี่ยวนำด้วยสารก่อการอักเสบ lipopolysaccharide (LPS) พบว่า สารสกัดจากใบอ่อนและใบที่โตเต็มที่ขนาด 50-800 มคก./มล. มีความเป็นพิษต่อเซลล์ค่อนข้างน้อย ในขณะที่สารสกัดจากใบแก่ขนาด 50-400 มคก./มล. มีความเป็นพิษต่อเซลล์เล็กน้อย แต่ที่ขนาด 800 มคก./มล. มีความเป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัดจากใบอ่อนและใบที่โตเต็มที่ยับยั้ง NO ได้ดี แต่สารสกัดจากใบแก่ยับยั้งได้เพียงเล็กน้อย การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบว่า สารสกัดจากใบที่โตเต็มที่ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารสกัดจากใบอ่อนและใบแก่ ดังนั้นจึงเลือกสารสกัดจากใบที่โตเต็มที่ไปทดสอบต่อ การทดสอบฤทธิ์ต้านการเกิด foam cell ในเซลล์ RAW264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย oxidized low-density lipoprotein (oxLDL) พบว่าสารสกัดจากใบที่โตเต็มที่ขนาด 400 มคก./มล. สามารถลดการสะสมไขมันในเซลล์ได้ เมื่อเทียบกับเซลล์ที่ได้รับ oxLDL เพียงอย่างเดียว การทดสอบผลต่อสารก่อการอักเสบ tumor necrosis factor-α (TNF-α) ในเซลล์ RAW264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย oxLDL และ LPS พบว่าสารสกัดจากใบที่โตเต็มที่ขนาด 800 มคก./มล. สามารถยับยั้งการสร้าง การออกฤทธิ์ และการแสดงออกของ TNF-α ได้ จากผลการทดลองข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเอทานอลจากใบคะน้าเม็กซิโกที่โตเต็มอาจมีฤทธิ์ต้านการเกิด foam cell ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดแข็ง ด้วยกลไกการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบภายในเซลล์
Pharmacogn Res. 2022; 14(2):121-6. doi: 10.5530/pres.14.2.17.