การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งของสารสกัดเอทานอลจากเปลือกผล เนื้อผล และทั้งผลของฝรั่งสับปะรด (Pineapple Guava หรือ Feijoa) หรือ ฝรั่งบราซิล (Acca sellowiana (O. Berg) Burret) ซึ่งอุดมไปด้วยสารฟีนอลิก (phenolic-rich feijoa extract) โดยทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากของมนุษย์ (human prostate cancer cell line; LNCaP) และเซลล์ปกติซึ่งเป็นเซลล์เพาะเลี้ยงจากไตของตัวอ่อนของมนุษย์ (human embryonic kidney cell line; HEK293) ด้วยวิธี Sulforhodamine B assay พบว่า สารสกัดของฝรั่งสับปะรดยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าเซลล์ปกติ โดยที่ความเข้มข้น 30 มคก./มล. สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ LNCaP ได้มากกว่า 90% แต่ที่ความเข้มข้นเดียวกัน เมื่อทดสอบกับเซลล์ HEK293 พบว่าเซลล์มีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 90% การเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ LNCaP ระหว่างสารสกัดจากส่วนเปลือกผล เนื้อผล และทั้งผล พบว่ามีค่า IC50 เท่ากับ 21.13, 13.79, และ 43.06 มคก./มล. ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่าสารสกัดจากส่วนเนื้อผลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด การศึกษากลไกการออกฤทธิ์พบว่า สารสกัดของฝรั่งสับปะรดมีความจำเพาะเจาะจงกับเซลล์ LNCaP โดยมีผลกระตุ้น caspase-dependent apoptosis pathway โดยเพิ่ม sub-G1 phase ในวัฏจักรเซลล์ และลด mitochondrial membrane potential รวมทั้งกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ caspase 3, 8, และ 9 การวิเคราะห์ทางเคมีพบว่าสารสกัดแห้งจากส่วนเปลือกผล เนื้อผล และทั้งผลขนาด 1 มก. มีปริมาณผลรวมฟีนอลิก (total phenolic content) เทียบเท่ากับสารมาตรฐาน gallic acid 0.25, 0.37, และ 0.14 มก. ตามลำดับ และมีสาร ellagic acid เป็นองค์ประกอบหลัก (7.06, 9.12, และ 2.66 มคก./มก. ตามลำดับ) จากผลการทดสอบข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเอทานอลจากผลของฝรั่งสับปะรดมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
Food Chem. 2022;383:132285