การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกงิ้วต่อการยั้บยั้งอาการท้องผูกในหนูทดลอง

การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดน้ำจากดอกงิ้ว (Bombax ceiba; silk cotton tree) ต่อการยับยั้งอาการท้องผูกในหนูเม้าส์ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุมให้น้ำเกลือ กลุ่มที่เหนี่ยวนำให้ท้องผูกด้วย loperamide 10 มก./กก. และให้น้ำเกลือ กลุ่มที่เหนี่ยวนำให้ท้องผูกด้วย loperamide 10 มก./กก. และให้ phenolphthalein 10 มก./กก. และกลุ่มทดสอบที่เหนี่ยวนำให้ท้องผูกด้วย loperamide 10 มก./กก. และให้สารสกัดน้ำจากดอกงิ้วขนาด 40, 80 และ 160 มก./กก. ตามลำดับ ทางท่อผ่านทางกระเพาะอาหาร เป็นระยะเวลา 8 วัน ในวันที่ 8 หนูทุกตัวจะได้รับ activated carbon ประเมินผลการทดสอบจากปริมาณน้ำในอุจจาระ เวลาที่ถ่ายอุจจาระสีดำครั้งแรกหลังจากได้รับ activated carbon อัตราการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และค่าทางชีวเคมีต่าง ๆ ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วขนาด 160 มก./กก. มีปริมาณน้ำในอุจจาระเพิ่มขึ้น (15.75%) จำนวนอุจจาระเพิ่มขึ้น (11.65%) อัตราการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น (25.37%) และระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระสีดำครั้งแรกลดลง (24.04%) กลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วขนาด 80 มก./กก. มีผลเพิ่มระดับ motillin (30.62%) gastrin (54.46%) และ substance P (18.99%) และลดระดับ somatostatin (19.47%) นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วขนาด 160 มก./กก. มีผลลดการทำลายเยื่อเมือก (mucosal) ปรับปรุงการทำงานของเซลล์กอบเลท (goblet cell) ลดการแสดงออกของโปรตีน aquaporin 3 (AQP3) (33.60%) และเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน c-kit (11.63%) และจากการทดสอบวิเคราะห์สารเคมีในสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วด้วย UPLC-ESI-QTOF-MS/MS พบสาร 12 ชนิด ได้แก่ protocatechuic acid, 1-caffeoylquinic acid, 5-coumaroylquinic acid, neochlorogenic acid, chlorogenic acid, 4-coumaroylquinic acid, 3-coumaroylquinic acid, clovamide, rutin, isoquercetin, quercetin 3 - glucuronide และ kaempferol - 3 - glucuronide จากผลการทดสอบครั้งนี้นักวิจัยระบุว่าสารสกัดน้ำจากดอกงิ้วมีฤทธิ์บรรเทาอาการท้องผูก อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการทดสอบในหนูทดลองเท่านั้น

Pharm Biol. 2023;61(1):125-34. doi: 10.1080/13880209.2022.2157841.