Microsporum canis เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของสัตว์ที่สามารถติดต่อมายังคนได้ สามารถพบได้ในแมวซึ่งเป็นแหล่งของเชื้อชนิดนี้ และการใช้ยายับยั้งเชื้อราบ่อย ๆ อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ การใช้สารจากธรรมชาติจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง การศึกษาครั้งนี้จึงเลือกทดสอบฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดเอทานอลจากใบเนียมหูเสือ (Coleus amboinicus) ต่อ planktonic cells และการสร้าง biofilm ของเชื้อรา M. canis จำนวน 12 ตัวอย่างที่แยกจากโรคเชื้อราบนผิวหนังแมว ทำการวิเคราะห์สารในน้ำมันหอมระเหยจากเนียมหูเสือด้วย GC-MS พบสาร 18 ชนิด โดยพบสาร carvacrol เป็นองค์ประกอบหลัก และวิเคราะห์สารสกัดเอทานอลจากเนียมหูเสือด้วย HPLC พบสาร rosmarinic acid, apigenin และ caffeic acid การศึกษาฤทธิ์ต่อการยับยั้งเชื้อราพบว่าน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากเนียมหูเสือยับยั้งการเจริญของ planktonic cells ของเชื้อ M. canis ที่แยกได้ทั้งหมด ด้วยค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ 50% (MIC50) เท่ากับ 128 มคก./มล. (32 - 256 มคก./มล.) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ 90% (MIC90) ของน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดเอทานอลของเนียมหูเสือ คือ 128 มคก./มล. และ 256 มคก./มล. ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยที่ 128 มคก./มล. และ 256 มคก./มล. ยับยั้งการสร้าง biofilm ทั้งในระดับต่ำ ปานกลาง และสูง สารสกัดเอทานอลจากเนียมหูเสือที่ 256 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง biofilm ของเชื้อที่แยกได้ทั้งหมด จากผลการทดสอบสารสกัดเนียมหูเสือมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของ planktonic และยับยั้งการสร้าง biofilm ของเชื้อ M. canis อย่างมีนัยสำคัญ สมุนไพรเนียมหูเสือจึงอาจเป็นแหล่งของสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อรา อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
Antibiotics. 2022;11(12):1734. doi: 10.3390/antibiotics11121734