กากแครนเบอร์รี (cranberry pomace) ซึ่งเป็นวัสดุเศษเหลือจากการผลิตน้ำแครนเบอร์รี เมื่อนำมาสกัดด้วยน้ำและทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดในการต้านเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้ซิกา และไวรัสเดกี (Dengue virus) ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก โดยการทดสอบในเซลล์มะเร็งปอด A549 พบว่าสารสกัดความเข้มข้น 6.25-400 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสซิกาได้ ซึ่งฤทธิ์แปรผันตามความเข้มข้น โดยมีค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 26 มคก./มล. และการทดสอบในเซลล์มะเร็งตับ Huh7.5 พบว่าสารสกัดความเข้มข้น 6.25-200 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเดกีสายพันธุ์ DENV-2 และ DENV-4 ได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 54.2 และ 40.3 มคก./มล. ตามลำดับ ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดคือ ยับยั้งการเข้าจับของเชื้อไวรัสกับเซลล์เจ้าบ้าน ทำให้ขัดขวางการเข้าสู่ภายในเซลล์ของไวรัสได้ การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัด พบว่าความเข้มข้นสูงสุดที่ไม่ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ (maximum non-toxic concentration) เท่ากับ 400 มคก./มล. และการทดสอบความเป็นพิษในปลาม้าลาย (zebrafish; Danio rerio) โดยฉีดสารสกัดขนาดเดียวกันนี้เข้าทางช่องท้องของปลา เป็นเวลา 5 วัน พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษต่อปลา และไม่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของปลา เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากกากแครนเบอร์รี สารสำคัญหลักที่พบในสารสกัด ได้แก่ quinic acid, peonidin-3-galactoside และpeonidin-3-arabinoside
Viruses. 2022;14,1101. doi: 10.3390/v14051101.