สารรสขมในมะระกับประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างน้ำตาลในตับ

การศึกษาส่วนใหญ่พบว่าสารสำคัญและสารออกฤทธิ์ในมะระขี้นกเป็นสารที่มีรสขม และคาดว่าระดับความขมอาจมีความสัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สำหรับการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาแยกสารสำคัญ พิสูจน์โครงสร้าง ทดสอบระดับความขม และทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้างน้ำตาลในตับของมะระ (Momordica charantia L.) สายพันธุ์ Lvbaoshi ในหลอดทดลอง จากผลการทดสอบทางเคมีพบว่าสามารถแยกสาร triterpenoids ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม cucurbitane-type triterpene glycosides ได้จำนวน 18 ชนิด ได้แก่ momordicoside Y, momordicoside Z, karaviloside III, (19R,23E)-5,19-epoxy-19-methoxycucurbita-6,23,25-trien-3-ol3-O-D-allopyranoside, charantoside C, momordicoside F1, goyaglycoside C, goyaglycoside D, charantoside II, charantoside V, momordicoside G, charantoside VI, momordicoside L, momordicoside K, (3β,7β,23E)-3,7-dihydroxy-25-methoxycucurbita-5,23-dien-19-al3-β-D-allopyranoside, goyaglycoside B, momordicoside F2, และ goyaglycoside A เมื่อนำมาประเมินระดับความขมด้วยวิธี electronic tongue analysis พบว่า มีสาร 6 ชนิดที่เป็นสารให้รสขมได้แก่ momordicoside Y, karaviloside III, goyaglycoside C, momordicoside L, momordicoside F2, และ goyaglycoside A (สาร 12 ชนิดที่เหลือมีระดับความขมต่ำกว่าเกณฑ์ที่สามารถตรวจวัดได้) โดยสารทดสอบขนาด 1 มก. มีความขมเทียบเท่ากับสาร caffeine ขนาด 0.32, 289.19, 4.32, 0.75, 41.24, และ 0.37 มก. (milligrams of caffeine equivalents per milligram of sample) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่าสาร karaviloside III, goyaglycoside C, และ momordicoside F2 เป็นสารที่มีรสขมมากกกว่าสาร caffeine การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้างน้ำตาลในตับด้วยวิธี hepatic gluconeogenesis assay โดยใช้สารทดสอบความเข้มข้น 40 ไมโครโมลาร์ เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน berberine ในขนาดเดียวกัน และยามาตรฐาน metformin ขนาด 2 มิลลิโมลาร์ พบว่า มีสารเพียง 4 ชนิด ที่สามารถยับยั้งการสร้างน้ำตาลในตับได้มากกว่ากลุ่มควบคุม (DMSO) ได้แก่ momordicoside Y, charantoside C, momordicoside F1, และ momordicoside G โดยสามารถยับยั้งได้ 23.9%, 36.2%, 33.4%, และ 34.4% ตามลำดับ ในขณะที่สาร berberine และยา metformin ยับยั้งได้ 61.01% และ 53.38% ตามลำดับ จากผลการทดลองทำให้สามารถสรุปได้ว่า ประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างน้ำตาลในตับไม่เกี่ยวข้องกับระดับความขมของสารสำคัญในมะระขี้นก

Food Chem. 2022;372:131224