การศึกษาทางคลินิกโดยเตรียมครีมที่มีส่วนผสมของสารไลโคปีนจากมะเขือเทศ 0.05% และสารสกัดรำข้าวสาลี 3.45% และวิเคราะห์ลักษณะทางเคมีกายภาพ แล้วทดสอบครีมดังกล่าวในอาสาสมัครที่เป็นฝ้าจำนวน 22 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มละ 11 คน กลุ่มทดสอบจะทาครีมที่มีส่วนผสมของไลโคปีนและสารสกัดรำข้าวสาลี 2 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ประเมินผลโดยการวัดคะแนน melasma area and severity index (MASI score) ในช่วงสัปดาห์ที่ 0, 3, 6, 9 และ 12 ของการทดสอบ และ 1 เดือนหลังจากทดสอบ ผลการทดสอบพบว่าลักษณะของครีมที่เตรียมตามสูตรที่ศึกษามีความเรียบ ลักษณะของครีมเป็นเนื้อเดียวกัน การกระจายบนผิวและความหนืดเหมาะสม ค่าคะแนน MASI ของกลุ่มทดสอบมีคะแนนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในช่วงสัปดาห์ที่ 6 จนกระทั่งจบการทดสอบ เปรียบเทียบกับช่วงเริ่มทำการทดสอบ มีค่าผลต่างค่าเฉลี่ย (mean difference) และการเปลี่ยนแปลงสีผิวในกลุ่มทดสอบเท่ากับ 0.53 ± 0.47 และ 3.73 ± 1.90 ตามลำดับ สูงกว่ากลุ่มยาหลอกมีค่าผลต่างค่าเฉลี่ยและการเปลี่ยนแปลงสีผิวเท่ากับ 0.14 ± 0.20 และ 0.91 ± 0.07 ตามลำดับ ในระหว่างการทดสอบขนาดของการเกิดฝ้าของกลุ่มทดสอบลดลงจาก 6.59 ± 3.47 เป็น 5.97 ± 3.83 จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าจากค่า MASI ของกลุ่มทดสอบที่ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของไลโคปีนจากมะเขือเทศและสารสกัดรำข้าวสาลีมีผลในการปรับปรุงผิว และไม่พบการเกิดฝ้ากลับมาใหม่ในช่วง 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดสอบ นักวิจัยระบุว่าสูตรครีมที่เตรียมมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้ทางเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
J Cosmet Dermatol. 2021;20(6):1795-800. doi: 10.1111/jocd.13799.