ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสมานแผลของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวาน

ศึกษาฤทธิ์องค์ประกอบทางเคมีในน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวาน (Citrus reticulata) ด้วย Gas Chromatography-Mass Spectroscopy (GC-MS) พบว่า สารสำคัญที่พบมากที่สุดในมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวานคือ D-limonene (89.31%) เมื่อทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยการวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวานมีปริมาณสารฟีนอลิก 17.03±3.24 มก. เทียบเท่ากับ gallic acid/ก. ของน้ำมันหอมระเหย และมีปริมาณสารฟลาโวนอยด์ 14.63±0.95 มก. เทียบเท่ากับ catechin/ก. ของน้ำมันหอมระเหย และมีความสามารถในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) radical scavenging assay เท่ากับ 73.32% และทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli และ Staphylococcus aureus ด้วยวิธี disc diffusion method พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวาน 100 มคล. มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด โดยมีค่าเส้นผ่าศูนย์กลางของพื้นที่ยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition diameter) เท่ากับ 0.6±0.50 และ 0.8±0.25 ซม. ตามลำดับ ในขณะที่ยาต้านเชื้อมาตรฐาน gentamicin มีค่าท่ากับ 1.0±0.31 และ 1.3±0.42 ซม. ตามลำดับ และทำการทดสอบฤทธิ์สมานแผลด้วยการโกนขนบริเวณหลังของกระต่ายและใช้มีดกรีดทำให้เกิดแผลบนหลังกระต่ายขนาด 1.5 ซม. แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ไม่ได้รับสารทดสอบใดๆ (negative control) กลุ่มที่ 2 ทาแผลด้วยยารักษาแผลมาตรฐาน pyodine (positive control) กลุ่มที่ 3 ทาแผลด้วยน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้ม 0.5 มล. และปิดแผลด้วยแผ่นฟิล์ม (occlusive dressing) กลุ่มที่ 4 ทาแผลด้วยน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้ม 0.5 มล. เพียงอย่างเดียว ทำการทดสอบนาน 8 วัน พบว่า ขนาดของแผลบนผิวหนังของกระต่ายที่ทาน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มมีขนาดเล็กลงมากกว่ากระต่ายในกลุ่มควบคุมทั้ง 2 กลุ่ม และการรักษาแผลด้วยการใช้น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเพียงอย่างเดียวให้ผลดีกว่าการใช้มันหอมระเหยจากเปลือกส้มร่วมกับการปิดด้วยแผ่นฟิล์ม นอกจากนี้ เมื่อทดสอบฤทธิ์ก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังกระต่ายด้วยการโกนขนบริเวณหลังและทาน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวานและสังเกตการเกิดผื่นแดง (erythema) เมื่อเวลาผ่านไป 2, 4, และ 6 ชม. พบว่า ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังกระต่าย ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มเขียวหวานมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ช่วยสมานแผล และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง

Curr Pharm Biotechnol. 2021;22(8):1114-21.