สารสกัดจากใบมะรุมช่วยลดความเสียหายของระบบสืบพันธุ์เพศผู้จากภาวะอ้วน

ศึกษาผลของสารสกัดเอทานอลจากใบมะรุม (Moringa oleifera) ต่อภาวะการทำหน้าที่ผิดปกติของอัณฑะ (testicular dysfunction) ซึ่งมีสาเหตุมาจากความอ้วน โดยทำการทดสอบในหนูแรทจำนวน 50 ตัว แบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม (กลุ่มละ 10 ตัว) กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติ ไม่ได้รับสารสกัดหรือยาใดๆ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ป้อนสารสกัดเอทานอลใบมะรุมขนาด 300 มก./กก./วัน นาน 14 สัปดาห์ กลุ่มที่ 3 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ได้รับสารสกัดหรือยาใดๆ กลุ่มที่ 4 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูง และป้อนสารสกัดเอทานอลใบมะรุมขนาด 300 มก./กก./วัน นาน 14 สัปดาห์ และกลุ่มที่ 5 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูงใน 8 สัปดาห์แรก จากนั้นเลี้ยงต่อด้วยอาหารปกติและป้อนสารสกัดเอทานอลใบมะรุมขนาด 300 มก./กก./วัน นาน 6 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวัดค่าฮอร์โมนเพศรวมถึงค่าชีวเคมีในเลือดอื่นๆ และชำแหละซากเพื่อตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ภายในร่างกาย ผลจากการศึกษาพบว่า น้ำหนักของอัณฑะหนูในแต่ละกลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว (กลุ่ม 3) มีน้ำหนังของอัณฑะลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ การเลี้ยงหนูแรทด้วยอาหารที่มีไขมันสูง (กลุ่ม 3) มีผลให้ระดับฮอร์โมน testosterone, follicle-stimulating hormone และ luteinizing hormone ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม การป้อนสารสกัดเอทานอลใบมะรุม (กลุ่ม 4 และ 5) มีผลช่วยให้ค่าระดับฮอร์โมนดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การป้อนสารสกัดเอทานอลใบมะรุมเพียงอย่างเดียว (กลุ่ม 2) ให้ผลไม่แตกต่างจากลุ่มควบคุม เช่นเดียวกับผลต่อเอนไซม์และโปรตีนที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระในเนื้อเยื่ออัณฑะ ที่พบว่าการเลี้ยงด้วยอาหารที่มีไขมันสูงมีผลลดระดับ superoxide dismutase, catalase และ glutathione แต่มีผลเพิ่มระดับ malondialdehyde ซึ่งบ่งชี้ถึงการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งค่าดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้นในหนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลใบมะรุม นอกจากนี้ การเลี้ยงหนูแรทด้วยอาหารที่มีไขมันสูงยังมีผลลดจำนวนและการเคลื่อนไหวของสเปิร์ม และเพิ่มจำนวนสเปิร์มที่มีลักษณะผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งการป้อนสารสกัดเอทนอลใบมะรุมมีผลช่วยให้ความผิดปกิดังกล่าวลดลง ซึ่งการให้สารสกัดใบมะรุมร่วมกับอาหารที่มีไขมันสูง (กลุ่ม 4) มีประสิทธิภาพในการปกป้องระบบสืบพันธุ์ดีกว่าการให้อาหารที่มีไขมันสูงก่อนแล้วจึงให้สารสกัดใบมะรุม (กลุ่ม 5) ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดเอทานอลจากใบมะรุมมีฤทธิ์ช่วยปกป้องและลดความเสียหายของระบบสืบพันธุ์เพศผู้ซึ่งเกิดจากภาวะอ้วนได้

Andrologia. 2021;53(8):e14126.