ฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัดมะขามแขก

การศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของสารสกัด 70% เมทานอลจากใบและฝักของมะขามแขก (Senna alexandrina) ในหนูแรท โดยป้อนหนูด้วยสารสกัดมะขามแขกขนาด 100 มก./กก./วัน หลังจากนั้น 1 ชม. หนูจะได้รับแคดเมียมคลอไรด์ (CdCl2) ขนาด 0.6 มก./กก./วัน โดยการฉีดเข้าทางช่องท้องในรูปแบบของสารละลาย เป็นเวลานาน 4 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ทำการวิเคราะห์ระดับแคดเมียมในเนื้อเยื่อตับ ระดับเอนไซม์ transaminases ในเลือด ค่าผลรวม bilirubin (บ่งชี้การทำงานของตับ) ค่าดัชนีตัวชี้วัดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) ได้แก่ malondialdehyde (MDA), nitrate/nitrite (NO), glutathione (GSH) ระดับสารออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant molecules) ได้แก่ superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione-derived enzymes, nuclear factor erythroid 2-related factor 2 (Nrf2) ระดับสารก่อการอักเสบ ได้แก่ interleukin-1 beta (IL-1β), tumor necrosis factor-alpha (TNF-α), apoptosis proteins (Bcl-2, Bax, caspase-3) และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อตับกล้องจุลทรรศน์ พบว่า สารสกัดมะขามแขกสามารถลดการสะสมแคดเมียมในเนื้อเยื่อตับ ทำให้ระดับเอนไซม์ alanine transaminase (ALT), aspartate transaminase (AST), และ bilirubin ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับ CdCl2 เพียงอย่างเดียว และสารสกัดมะขามแขกเพิ่มระดับและการทำงานของ SOD, CAT, GSH, gluatathione reductase (GR), glutathione peroxidase (GPx), และ Nrf2 และลดระดับ MDA และ NO รวมทั้งลดระดับและการแสดงออกของโปรตีน IL-1β, TNF-α, Bcl-2, Bax, caspase-3 นอกจากนี้ การวิเคราะห์ลักษณะของเนื้อเยื่อตับผ่านกล้องจุลทรรศน์พบว่า สารสกัดมะขามแขกสามารถยับยั้งความเสียหายและการตายของเซลล์ตับที่เกิดจาก CdCl2 ได้ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัด 70% เมทานอลจากใบและฝักของมะขามแขกมีฤทธิ์ปกป้องตับจากความเป็นพิษของ CdCl2 ได้

Environ Sci Pollut Res Int. 2020;27(6):5981-92