การศึกษาทางคลินิกแบบปกปิดสองทาง มีการสุ่ม และมียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม (a double-blind, randomized, placebo-controlled clinical trial) เพื่อศึกษาผลของการรับประทานโสมเกาหลี (Panax ginseng C.A. Meyer) ต่ออาการวัยทอง (menopausal symptoms) ในผู้ป่วยเพศหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ได้รับการผ่าตัดมะเร็งนรีเวชจำนวน 55 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (29 คน) ให้ผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดแคปซูลซึ่งบรรจุผงโสมเกาหลี 500 มก. ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (ปริมาณรวม 3 ก./วัน) และกลุ่มที่ 2 (26 คน) ให้ผู้ป่วยรับประทานแคปซูลยาหลอกซึ่งบรรจุผงแป้งข้าวโพด (กลุ่มควบคุม) ติดต่อกันนาน 12 สัปดาห์ ทำการวัดน้ำหนักตัวและความดันโลหิตรวมถึงเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี และประเมินอาการวัยทองด้วยแบบประเมิน menopause rating scale (MRS) ทั้งช่วงก่อนและหลังการศึกษา ผลจากการศึกษาพบว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการศึกษา (12 สัปดาห์) ค่าคะแนนจากแบบประเมิน MRS ของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มลดลงจากช่วงก่อนการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างสองกลุ่ม และไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการทดลองในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบลักษณะอาการทั้ง 11 หัวข้อจากแบบประเมิน MRS ในแต่ละกลุ่มพบว่า เมื่อครบ 12 สัปดาห์ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับโสมเกาหลีมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมในหัวข้อย่อยเรื่องปัญหาทางด้านเพศสัมพันธ์ (sexual complaints) จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การรับประทานโสมเกาหลีในขนาดและระยะเวลาดังกล่าวไม่ช่วยบรรเทาอาการวัยทองในผู้ป่วยเพศหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ได้รับการผ่าตัดมะเร็งนรีเวชได้อย่างชัดเจน แต่มีแนวโน้มที่ดีในการบรรเทาปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลกระทบในระยะยาวและในจำนวนประชากรที่มากขึ้น
J Altern Complement Med. 2021;27(1):66-72.