การศึกษาเปรียบเทียบสารสำคัญและฤทธิ์การนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ของแคลลัสและสารสกัดใบรางจืด

การศึกษาเปรียบเทียบสารสำคัญและฤทธิ์การนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ (glucose uptake) ของสารสกัดเมทานอลจากแคลลัสเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (callus culture) ของใบรางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) และสารสกัดใบรางจืดด้วยน้ำเดือด เมทานอล และ 80% เมทานอล ทำการศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ ด้วยการบ่มเซลล์กล้ามเนื้อของหนูแรท (rat skeleton muscle: L6 cell) ร่วมกับสารสกัดจากใบรางจืด ความเข้มข้น 100-400 มคก./มล. เป็นเวลา 24 ชม. ผลพบว่าสารสกัดเมทานอลจากแคลลัสรางจืดมีฤทธิ์ดีที่สุดในการกระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ โดยชักนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพิ่มขึ้น 28.25-58.27% และมีผลเพิ่มการแสดงออกของ AMPK-α2 และ GLUT4 mRNA ได้ตามขนาดของสารสกัดที่ได้รับ รองลงมาคือสารสกัดเมทานอลจากใบรางจืด สารสกัด 80% เมทานอล และสารสกัดน้ำเดือดจากใบ ตามลำดับ สอดคล้องจากผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยวิธี HPLC ที่พบว่าสารสกัดเมทานอลจากแคลลัสมีปริมาณสารสำคัญในกลุ่มกรดฟีนอลลิก (caffeic acid, rosmarinic acid) และสารฟลาโวนอยด์ (rutin, apigenin) มากที่สุด โดยเฉพาะสาร rosmarinic acid พบถึง 11.50 มก./ก. น้ำหนักแห้ง ซึ่งสูงกว่าสารสกัดเมทานอลจากใบถึง 96 เท่า และไม่พบสารนี้ในสกัดจากน้ำเดือด การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแคลลัสที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีปริมาณสารสำคัญที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลมากกว่าใบรางจืดที่พบตามธรรมชาติ

J Food Process Preserv. 2021;45:e15434.