การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวิตามินอีและน้ำมันเมล็ดลินินในการบรรเทาความผิดปกติของเต้านม

การศึกษาทางคลินิกแบบปกปิดสองทางและมีการสุ่ม (randomized, double-blind clinical trial) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวิตามินอีและน้ำมันเมล็ดลินิน (Linum usitatissimium) ในการบรรเทาความผิดปกติของเต้านม ในผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 20-50 ปี จำนวน 100 คน ที่มีอาการปวดเต้านม (mastalgia) ในระดับปานกลางถึงรุนแรง (ค่าระดับความปวดซึ่งวัดด้วย visual analog scale (VAS) มากกว่า 4) ร่วมกับการมีก้อนหรือถุงน้ำขนาดเล็กในเต้านม (breast fibrocystic and nodularity) โดยสุ่มแยกผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จะได้รับวิตามินอีขนาด 200 IU วันละ 2 ครั้ง และกลุ่มที่ 2 จะได้รับน้ำมันเมล็ดลินินขนาด 1,000 มก. (ประกอบด้วย α-linolenic acid 350 มก.) วันละ 2 ครั้ง โดยจะรับประทานหลังอาหาร ทำการทดสอบนาน 2 เดือน โดยประเมินความปวดด้วย Cardiff chart และ VAS ทุก 2 สัปดาห์ และประเมินการกระจายตัวของก้อนในเต้านมด้วย Lucknow-Cardiff scale ที่ระยะเวลา 0, 1, และ 2 เดือน พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีความปวดลดลง โดยค่าเฉลี่ยความปวดไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ความปวดในช่วงที่มีรอบเดือนทั้ง 4 ระยะคือ menstruation phase, follicular phase, สัปดาห์แรกของ luteal phase, และสัปดาห์ที่ 2 ของ luteal phase ของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน การกระจายตัวของก้อนในเต้านม (breast nodularity) ของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มลดลง และให้ผลไม่แตกต่างกัน การติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงจากการใช้พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (86%) ไม่เกิดความผิดปกติใดๆ แต่มีการรายงานว่าผู้ป่วยกลุ่มละ 5 คน เกิดภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ผู้ป่วย 3 คน เกิดอาการแพ้เล็กน้อย และผู้ป่วย 1 คน เกิดอาการคลื่นไส้และท้องเสีย จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า วิตามินอีและน้ำมันเมล็ดลินินสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเต้านมและลดการกระจายตัวของก้อนในเต้านมได้ โดยการใช้ในขนาดและระยะเวลาดังกล่าว วิตามินอีและน้ำมันเมล็ดลินินมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไม่แตกต่างกัน

J Pharm Health Care Sci. 2021;7:4