ผลของการรับประทานเมล็ดลินินต่อการอักเสบในผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อักเสบ

การศึกษาทางคลินิกแบบไม่ปกปิด มีการสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม (open-labelled randomised controlled trial) เพื่อศึกษาผลของการรับประทานเมล็ดลินิน (Linum usitatissimum L.) ต่อการอักเสบของผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อักเสบ (ulcerative colitis; UC) ในระดับอ่อนถึงระดับปานกลาง (mild-to-moderate UC) จำนวน 90 คน โดยผู้ป่วยจะถูกสุ่มเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มที่ 1 ได้รับเมล็ดลินินบด (grounded flaxseed) 30 ก./วัน กลุ่มที่ 2 ได้รับน้ำมันเมล็ดลินิน (flaxseed oil) 10 ก./วัน และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มควบคุม ทำการศึกษาเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับลินินทั้ง 2 กลุ่ม มีระดับ high sensitivity C-reactive protein (hs-CRP; เป็นตัวบ่งชี้การเกิดการอักเสบในร่างกาย) และค่า Mayo score (เป็นตัวชี้วัดความรุนแรงของภาวะลำไส้อักเสบ) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.001) ในขณะที่คะแนนในแบบประเมินคุณภาพชีวิต (IBDQ-9 score) ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.001) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่ได้รับลินินทั้ง 2 กลุ่ม มีระดับ interleukin-10 (IL-10; เป็นสารต้านการอักเสบในร่างกาย) ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการศึกษา แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและได้รับลินิน ค่า Mayo score จะลดลงมากกว่าผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และในระยะเวลที่ทำการทดสอบ (12 สัปดาห์) สารทดสอบทุกกลุ่มไม่มีผลต่อระดับ mRNA ของ Toll-like receptor-4 (TLR-4; เป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในผู้ป่วย UC) จากผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การรับประทานเมล็ดลินินบดหรือน้ำมันเมล็ดลินิน อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อักเสบได้

Int J Clin Pract. 2021;75:e14035.