ผลของการรับประทานเนื้อผลมะขามต่อน้ำหนักตัวและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ศึกษาผลของการรับประทานเนื้อผลมะขาม (Tamarindus indica) ต่อน้ำหนักตัวและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินจำนวน 40 คน ทั้งเพศชายและหญิง ทำการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ผู้ป่วยรับประทานเนื้อผลมะขามขนาด 10 ก. วันละ 2 ครั้ง พร้อมมื้ออาหาร นานติดต่อกัน 6 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่ 2 รับประทานอาหารปกติ (กลุ่มควบคุม) ทำการชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว วัดค่าความดันโลหิต และคำนวณค่า BMI (body mass index) และเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีซึ่งบ่งชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (ค่าน้ำตาล ไขมัน และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด) ในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งช่วงก่อนและหลังการศึกษาพบว่า การรับประทานเนื้อผลมะขามวันละ 20 ก. มีผลลดค่า BMI ลดขนาดรอบเอว ลดระดับ LDL-C (low-density lipoprotein cholesterol) และลดค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) และคลายตัว (diastolic blood pressure) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการศึกษา แต่ไม่มีความแตกต่างเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แสดงให้เห็นว่าการรับประทานเนื้อผลมะขามในขนาดและระยะเวลาดังกล่าว ไม่ส่งผลต่อน้ำหนัก รอบเอว และค่าทางชีวเคมีในเลือดซึ่งบ่งชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแต่อย่างใด

Int J Prev Med. 2020;11:24.