ฤทธิ์บรรเทาอาการนอนไม่หลับของเมล็ดผักกาดหอม

การศึกษาทางคลินิก ปกปิดสองฝ่าย แบบ prospective randomized เพื่อประเมินฤทธิ์ของเมล็ดผักกาดหอมในการรักษาโรคนอนไม่หลับของหญิงตั้งครรภ์ โดยทดลองในหญิงตั้งครรภ์เดี่ยว (singleton pregnancy) อายุ 20-40 ปี มีอายุครรภ์ในช่วง 12-36 สัปดาห์ และมีปัญหานอนไม่หลับ จำนวน 100 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 50 คน ให้รับประทานแคปซูลเมล็ดผักกาดหอมบด (ขนาดวันละ 1,000 มก. หรือยาหลอก ก่อนนอนทุกคืน ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ประเมินคุณภาพการนอนหลับก่อนเริ่มทดลองและหลังได้รับเมล็ดผักกาดหอมครบ 2 สัปดาห์ ด้วยแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ Pittsburg Sleep Quality Index (PSQI) พบว่าค่าคุณภาพการนอนหลับของกลุ่มที่ได้รับแคปซูลเมล็ดผักกาดหอมดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งค่าเฉลี่ยคะแนนของการนอนหลับ (average sleep score) ของกลุ่มที่ได้รับแคปซูลเมล็ดผักกาดหอมน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากรับประทานเมล็ดผักกาดหอม การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเมล็ดผักกาดหอมสามารถช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับในหญิงตั้งครรภ์ได้

J Ethnopharmacol 2018;227:176-80