สารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเก๋ากี้ดำ

เก๋ากี้ดำ หรือ โกจิเบอร์รี่ดำ (Lycium ruthenicum) มีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นพืชทนแล้งและทนเค็ม การแพทย์แผนโบราณของจีนและทิเบตระบุว่า เก๋ากี้ดำใช้รักษาความผิดปกติของหัวใจ ภาวะประจำเดือนผิดปกติ ภาวะหมดประจำเดือน โรคนิ่วในท่อทางเดินปัสสาวะและท่อไต กลากเกลื้อน ฝี และเลือดออกตามไรฟัน สารสำคัญที่พบในส่วนผลของเก๋ากี้ดำคือ สารในกลุ่ม flavonoids, anthocyanins, polysaccharides, phenolic acids, carotenoids, alkaloids, essential oils, และ fatty acids โดยสีดำของผลเกิดจากสาร anthocyanins ซึ่งไม่พบในโกจิเบอร์รี่หรือเก๋ากี้ที่มีสีส้ม (Lycium barbarum) จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบสาร anthocyanins จำนวน 37 ชนิด รวมทั้งอนุพันธ์ต่างๆ เช่น peonidin, petundin, pelargonidin, cyanidin, malvidin, และ delphinidin นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญในกลุ่ม polysaccharides เช่น glucan และ rhamnogalacturonan I ซึ่งเก๋ากี้ดำจะมีปริมาณของสาร polysaccharides มากกว่าในเก๋ากี้สีส้ม แต่จะมีปริมาณของสาร carotenoids น้อยกว่า การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สาร flavonoids และสาร anthocyanins มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในขณะที่สาร polysaccharides มีฤทธิ์ต้านความเมื่อยล้า ต้านออกซิเดชั่น ป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยเพิ่มการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวชนิด T cell และ B cell เพิ่มการเกิด macrophage phagocytosis และต้านการอักเสบ นอกจากนี้มีรายงานว่า สารสกัดเก๋ากี้ดำช่วยป้องกันรังสีและมีฤทธิ์ชะลอวัย แต่ทั้งหมดยังเป็นการศึกษาในระดับเซลล์และสัตว์ทดลอง

Food Chem. 2018;240:759–66.